นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้เพิ่มจุดให้บริการรับ-ส่ง พัสดุขนาดเล็กหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม (กก.) บริเวณประตู 13 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ อีกหนึ่งจุด ซึ่งอยู่ใกล้กับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล (ฝั่งทางลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) เพิ่มเติมจากจุดให้บริการที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย่านรับ-ส่งสินค้าบางซื่อ และสถานีชุมทางบางซื่อ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00–20.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มให้บริการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.67
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ รฟท. ได้ปรับลดค่าบริการขนส่งพิเศษสำหรับพัสดุประเภทหีบห่อวัตถุที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กก. เหลือเพียงชิ้นละ 30 บาททุกเส้นทาง เพื่อช่วยลดต้นทุน และรายจ่ายแก่ประชาชน ผู้ประกอบการ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านค้าออนไลน์ รวมถึงเอสเอ็มอี ให้มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกลงกว่าปกติ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี มีผู้ประกอบการ และประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รฟท. จึงได้จัดจุดให้บริการรับ-ส่งเพิ่มอีก 1 จุด เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าที่จะใช้บริการขนส่งดังกล่าว ต้องบรรจุในกล่อง หรือซองที่ปิดมิดชิด แข็งแรง เป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสียง่าย และมีน้ำหนักต่อชิ้นไม่เกิน 2 กก. อาทิ อะไหล่ เสื้อผ้า อาหารแห้ง คิดอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายชิ้นละ 30 บาท ตลอดระยะทางที่มีการขนส่งสินค้าของขบวนรถสินค้า และขบวนรถโดยสาร
นายเอกรัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ผู้ใช้บริการสามารถรวมส่งสินค้าในครั้งเดียวกันได้ถึง 10 ชิ้น ซึ่งจะคิดค่าบริการเป็นรายชิ้น โดยไม่คิดค่าบริการยกขึ้นลง ตลอดจนมีการรับประกันความเสียหายของสินค้าที่เกิดจากการขนส่งตามระเบียบของ รฟท. ถือเป็นการส่งสินค้าที่ประหยัด และปลอดภัยอีกด้วย สำหรับระยะเวลาในการจัดส่งผู้ใช้บริการจะได้รับสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนการรับพัสดุเมื่อพัสดุมาถึงกรุงเทพฯ ผู้ใช้บริการสามารถมารับได้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่จุดอื่น หลังจากขบวนรถไฟเข้าเทียบชานชาลาภายใน 1 ชั่วโมง
นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า ในอนาคต รฟท. มีแผนการบริการขนส่งสินค้าในรูปแบบใหม่เพิ่มเติม จากการบริการขนส่งสถานีถึงสถานี เป็นการให้บริการขนส่งสถานีถึงหน้าบ้านผู้รับพัสดุได้ในคราวเดียวกันเลย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ รฟท. ที่มุ่งส่งเสริมการปรับโหมดการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง และเชื่อมโยงการขนส่งทางรางเข้ากับฐานการผลิตอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เพราะการขนส่งทางราง ถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม.