เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่รับฟังความคืบหน้าภาพรวมโครงการของท่าเรือระนอง (ทรน.) และโครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรือระนอง ปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ขยายหน้าท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 12,000 เดทเวทตัน และตั้งเป้าให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น สำหรับท่าเทียบเรือที่ 2 จะดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุด เพื่อให้มีความปลอดภัยในการรองรับเรือบรรทุกสินค้า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือ 3 และลานวางตู้สินค้าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ และยกระดับการให้บริการของ ท่าเรือระนองในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC)

นางมนพร กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเทียบเรือแล้ว ร่องน้ำทางเดินเรือที่มีความลึกเหมาะสม ถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยกรมเจ้าท่า (จท.) จะดำเนินโครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรือระนอง ขนาดความกว้าง 120 เมตร ลึก 12 เมตร ความยาว 28 กิโลเมตร (กม.) ระยะทางจากปากร่องเกาะช้างจนถึงท่าเรือระนอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่กินน้ำลึกมากกว่า 8 เมตร ให้สามารถเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือระนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางมนพร กล่าวอีกว่า ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าที่สำคัญในฝั่งอันดามันที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเลกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC (บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา และไทย) และจีน ซึ่งการที่จะพัฒนาท่าเรือระนองให้สามารถเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือ และพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงการให้บริการให้สามารถรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เชื่อว่าหากโครงการขุดลอกร่องน้ำฯ และขยายท่าเทียบเรือระนองสำเร็จตามแผน ท่าเรือระนองจะเป็นท่าเรือที่พร้อมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศ และจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ของรัฐบาล

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันท่าเรือระนอง มีภารกิจหลักในการให้บริการพื้นที่สำหรับวางตู้สำนักงาน ฝากเก็บสินค้า รวมทั้งเป็นท่าเรือสำคัญในการรองรับการให้บริการเรือ Offshore Supply หรือเรือสนับสนุนกิจการนอกชายฝั่ง มีหน้าที่ขนวัสดุอุปกรณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Supply Base) เช่น ท่อเหล็กขนาดต่างๆ พาเลทสารเคมี น้ำมันแบไรต์ แผ่นรองรับน้ำหนักสำหรับกลุ่มบริษัทผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเป็นท่าเรือที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่งออกปูนซีเมนต์สำเร็จรูปบริเวณฝั่งอันดามัน อ่าวเมาะตะมะ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

สำหรับผลการดำเนินงานของท่าเรือระนอง ในปีงบประมาณ 66 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 65 พบว่าปริมาณเรือเทียบท่า 167 เที่ยว เพิ่มขึ้น 12 เที่ยว (เพิ่มขึ้น 7.74%) ปริมาณสินค้าผ่านท่า 92,461 ตัน เพิ่มขึ้น 25,624.00 ตัน (เพิ่มขึ้น 38.34%) เนื่องจากบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการขุดเจาะและสำรวจฯ ทำให้ปริมาณสินค้าขาเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ท่าเรือระนองมีเป้าหมายในการทำกำไรเพิ่มขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า.