เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ห้องประชุมแขวงทางหลวงชนบทระนอง จ.ระนอง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความคืบหน้า และรับฟังการบรรยายสรุปงานโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม พร้อมตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 22-23 ม.ค.67 ในโอกาสนี้ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เข้าร่วมประชุม และลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ จ.ระนอง ด้วย โดยตนย้ำให้ทุกหน่วยงาน เน้นการดูแลบริการประชาชนด้านการคมนาคมเป็นหลัก รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมจากเมืองสู่ชุมชน ให้สะดวกปลอดภัย เชื่อว่าในวาระรัฐบาลชุดนี้จะมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้มากที่สุด
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ จ.ระนอง กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนายกระดับระบบคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการขยาย 4 ช่องจราจร บน ทล.4 ทล.4006 และถนนสาย รน.1039 รน.1038 รวมทั้งมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ จ.ระนอง ให้ครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย 1. มิติการพัฒนาทางถนน อาทิ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ทางหลวงชนบท แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP โครงการถนนเพื่อการท่องเที่ยว Andaman Riviera และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระนอง
2. มิติการพัฒนาทางราง อาทิ โครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น (MR9) โครงการเส้นทางรถไฟ สายชุมพร-ระนอง (MR8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการรถไฟทางคู่ ชุมพร-ระนองแนวเส้นทางเชื่อมโยงโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 3. มิติการพัฒนาทางน้ำ ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร-ระนอง) การขุดลอกร่องน้ำและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จ.ระนอง โครงการวงแหวนอันดามัน และโครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)
4. มิติการพัฒนาทางอากาศ มีท่าอากาศยานภาคใต้ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน 8 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเบตง ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานระนอง
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า รัฐบาลพร้อมผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และกำหนดแนวทางในการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยการลงทุนครั้งนี้จะให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% ภาครัฐเป็นผู้เวนคืนพื้นที่ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่า โครงการฯ จะส่งเสริมให้ GDP ของไทย ขยายตัวในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 5.5% และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ จ.ระนอง และชุมพร กว่า 280,000 อัตรา ในอุตสาหกรรมท่าเรือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปขั้นสูง อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบโครงการ ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน และมีความกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 68 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 73 ส่วนโครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (Andaman Riviera) ช่วงระนอง-สตูล ปัจจุบันที่ปรึกษาได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 แล้ว สนข. อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด ก่อนกำหนดนัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา คาดว่าจะมีการสัมมนาแนะนำโครงการในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัดภาคใต้อันดามันช่วงปลายเดือน ก.พ.67.