รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 15-29 ธ.ค. 66 พบว่า ได้รับผลกระทบทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา จำนวน 24 สายทาง 56 แห่ง ติดตั้งสะพานเหล็กชั่วคราวแบบถอดประกอบได้ (สะพานเบลีย์) จำนวน 1 แห่ง คือ ทางหลวงหมายเลข 4241 ตอนสุคิริน-ไอร์ตากอ ระหว่าง กม.10+000-กม.10+010 พื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมยุติแล้ว ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น แต่ประชาชนพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ส่งผลกระทบหนักที่สุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่เคยเกิดน้ำท่วมมา ขณะนี้ ทล. ได้ประเมินความเสียหาย เพื่อเตรียมแผนฟื้นฟูสายทางที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 910 ล้านบาท เพื่อดำเนินการฟื้นฟูน้ำท่วมจำนวน 81 โครงการ หลังจากนี้จะสรุปผลกระทบอย่างละเอียด เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมของบกลางปี 67 การดำเนินการฟื้นฟูสายทางที่ได้รับความเสียหายต่อไป หลังจากได้รับงบแล้ว กรณีเส้นทางที่ได้รับความเสียหายไม่มาก ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ส่วนกรณีที่สายทางเสียหายจำนวนมากใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือนแล้วเสร็จคืนสู่สภาพเดิม
สำหรับแผนฟื้นฟูน้ำท่วมครั้งนี้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น จะดำเนินการงานซ่อมแซมแก้ไขปัญหา เพื่อให้การจราจรผ่านได้ในเบื้องต้นหลังจากเกิดน้ำท่วม จัดหาทางเลี่ยง ทางลัด ทำทางเบี่ยงหรือทอดสะพานเบลีย์ ในกรณีที่ทางน้ำท่วมสูงการจราจรผ่านไม่ได้ หรือทางขาด หรือ ผิวทางชำรุด และติดตั้งอุปกรณ์งานทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทาง ดำเนินการจนกว่าเหตุการณ์จะยุติ
หลังจากนั้นจะดำเนินการบูรณะฟื้นฟูให้คืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด เมื่อน้ำลด ทล. จะเข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบ เพื่อทำการป้องกันโครงสร้างทางในส่วนต่างๆ ไม่ให้เกิดความเสียหายในลักษณะเดิมอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มระบบระบายน้ำในสายทางที่มีไม่เพียงพอ และให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ เช่น เดิมสายทางใช้ระบบระบายน้ำแบบท่อกลม อาจจะต้องใช้ท่อแบบสี่เหลี่ยมแทน หรือเพิ่มจำนวนท่อระบายน้ำ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำมากขึ้น หรือบางสายทางอยู่ในพื้นที่ที่ต่ำเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำ ดังนั้นอาจจะยกคันทางให้สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งแนวทางฟื้นฟูนั้น ต้องมีความเหมาะสมกับสภาพเส้นทางในแต่ละพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้สายทางกลับคืนสู่สภาพเดิม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนโครงข่ายทางหลวงให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่อไป