เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “ธุรกิจใหม่ท่าเรือกรุงเทพ : New Business Model of Bangkok Port” ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. กับบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าผ่านเรือลำเลียง และกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ” และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. และบริษัท บ็อกซ์แมน จำกัด ผู้กระทำการแทนบริษัท Oknha Mong Port ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ และสามารถส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ทั้งทางเรือ และรถไฟ”

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ธุรกิจใหม่ที่ท่าเรือกรุงเทพ ประกอบด้วย 1. โครงการท่าเรือพันธมิตร (Chao Phraya Super Port Project) เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และ บริษัท สหไทย เทอร์มินอลฯ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าจาก บริษัทสหไทยฯ มาที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยเรือชายฝั่ง (Barge) เข้าเทียบท่าที่ท่า 20 G สนับสนุนการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และรวดเร็วขึ้น ลดปัญหาการจราจรทางบก ลดต้นทุน และระยะเวลาขนส่งของผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ให้ได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อไป คาดว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 10,000 TEU ต่อปี หรือประมาณ 35-40 ล้านบาท

2. โครงการส่งเสริมการนำเข้า และส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ไปยังประเทศที่สาม ทั้งทางเรือและรถไฟ เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และบริษัท บ็อกซ์แมนฯ เพื่อสนับสนุนนโยบายโลจิสติกส์ของประเทศ (Shift mode) โดยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำ และทางราง ทดแทนการขนส่งทางถนน จะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมฯ ให้มีความต่อเนื่องของเที่ยวเรือ และเป็นเส้นทางเดินเรือที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการขนส่งตู้สินค้าระหว่างกันมากขึ้นในอนาคต และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์กรในระยะยาว

และ 3. โครงการเขตปลอดอากรท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Free Zone) เป็นการให้บริการใหม่ของท่าเรือกรุงเทพ บนพื้นที่ 24,000 ตารางเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการนำเข้าส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. กรมศุลกากร หน่วยงานเอกชน (บริษัท สปีดิชั่น ซิกม่า จำกัด) มีรูปแบบการดำเนินงาน คือ กทท. เป็นเจ้าของพื้นที่ และเอกชนเป็นผู้ลงทุน และบริหารจัดการโครงการฯ โดยให้บริการคลังสินค้า ลานกองเก็บตู้สินค้า สำนักงานให้เช่า ห้องจัดแสดงสินค้า ห้องควบคุมอุณหภูมิห้องเก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูง

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า กิจกรรมในเขตปลอดอากร ประกอบด้วย การยกเว้นอากรขาเข้า การซื้อขายแลกเปลี่ยน การคัดแยกประเภทสินค้า การบรรจุหีบห่อและการติดฉลากใหม่ การรวมสินค้า และสามารถจัดเก็บสินค้าได้นาน 2 ปี ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้าขาเข้า-ขาออก เพิ่มความสะดวกในการดำเนินพิธีการตรวจปล่อยสินค้า สนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ยกระดับการให้บริการ เพิ่มปริมาณสินค้าผ่านท่า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคประเทศจากประเทศคู่ค้า เพื่อกระจายไปยังประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ท่าเรือกรุงเทพยังมีแผนงานที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์และการขนส่งระหว่างประเทศอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตก ทกท. เป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ซึ่งได้นำระบบ Semi Automation มาใช้ให้บริการขนถ่ายตู้สินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอาคารสำนักงาน (Multimodal Transport & Distribution Center) และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างกิจกรรมใหม่ในอนาคตเพิ่มขึ้นได้ ตลอดจนมีโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรของรถบรรทุกในการผ่านท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับกรุงเทพฯ ในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผนงานด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้นอีกหลายระบบ โดยเฉพาะระบบหลักในการปฏิบัติงานและให้บริการ อาทิ ระบบควบคุมการผ่านเข้า-ออก ประตูตรวจสอบอัตโนมัติ (e-Gate), ระบบ Port Community System, ระบบปฏิบัติการเรือและสินค้าเวอร์ชั่นใหม่ และระบบสนับสนุนงานให้บริการอื่นๆ อีกหลายรายการ อาทิ ระบบอีดีโอ ระบบช่วยค้นหาและแสดงผลตำแหน่งตู้สินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

ทั้งนี้ กทท. เตรียมมุ่งสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง ด้วยการบริหารจัดการท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการผู้ลงทุน และผู้ประกอบการด้านการนำเข้า-ส่งออก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขนส่งและกระจายสินค้าของประเทศ รวมถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ อันเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้า และระบบโลจิสติกส์ทั้งภายใน และในภูมิภาค เพื่อรองรับต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการในอนาคต และองค์กรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน.