เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 พร้อมด้วยนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F1 เป็นลำดับแรก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ขณะนี้งานจ้างเหมาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 ผู้รับจ้างฯ ได้ส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการถมทะเลพื้นที่ 3 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 ความคืบหน้าภาพรวมอยู่ที่ 17.34% ล่าช้า 1.67% โดยจากการติดตามการดำเนินงานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ย.-ธ.ค.66) สามารถทำงานได้เร็วกว่าแผน โดยเดือน พ.ย. ทำได้ 2.08% จากแผน 1.90% ส่วนเดือน ธ.ค. ทำได้ 2.00% จากแผน 1.99% นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นที่การก่อสร้างมีความคืบหน้ามากกว่าแผนงานประจำเดือน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ก่อนหน้านี้งานล่าช้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงาน และนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามาได้

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกิจการร่วมค้า CNNC ผู้รับจ้าง ได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีกจากเดิม 120 คน เป็น 400 คน รวมเป็น 520 คน และนำเครื่องจักรทางน้ำ (เรือขุด) เข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวม 67 ลำ ดังนั้นเมื่อมีความพร้อมในการทำงานมากขึ้น กทท. จะเร่งรัดผลักดันให้งานเดินหน้าเร็วกว่าแผน 3% ต่อเดือน เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามแผน และสามารถส่งมอบให้ กทท. ได้ภายในเดือน มิ.ย.67 ก่อนที่ กทท. จะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการให้แก่บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายในเดือน พ.ย.68 เพื่อบริหารโครงการฯ คาดเปิดบริการในปี 70

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ส่วนงานที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือระบบถนนและระบบสาธารณูปโภควงเงิน 7,387 ล้านบาท ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารรายละเอียดตามพ.ร.บ.จัดจ้างฯ ภายหลังจาก กทท. เปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ขณะนี้ปิดรับเอกสารการประมูลแล้ว พบว่า มีเอกชนสนใจ 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, 2.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR, 3.บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ทั้งนี้คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลประมาณปลายเดือน ม.ค.-ต้นเดือน ก.พ.67  ลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน เม.ย.67 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,260 วัน หรือประมาณกว่า 3 ปี โดยจะเร่งรัดงานที่ 2 ส่วน F1 ให้ทันต่อการส่งมอบพื้นที่ให้ GPC ภายในเดือน พ.ย.68 

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า เมื่อโครงการท่าเทียบเรือ F1 แล้วเสร็จ และเปิดบริการในปี 70 จะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มได้อีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. โดยปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถรองรับความจุตู้สินค้าอยู่ที่ 11 ล้าน ที.อี.ยู. รวมเป็น 13 ล้าน ที.อี.ยู. จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อดำเนินการท่าเทียบเรือ F2 แล้วเสร็จในปี 74 รวมเป็น 15 ล้าน ที.อี.ยู. และจะครบ 18.1 ล้าน ที.อี.ยู. ในปี 81 อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำผู้รับจ้างว่า แม้จะต้องเร่งรัดงาน แต่งานต้องมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย โดยเอกชนยังยืนยันในคุณภาพ และให้ความมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จตามแผน เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคใดแล้ว และหากมีอุปสรรคก็คงเกิดขึ้นเล็กน้อย และสามารถเร่งแก้ไขให้งานแล้วเสร็จตามแผนได้

ด้านนายทวีศักดิ์ กล่าวว่า นางมนพร ได้เร่งรัดติดตามการทำงานเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ ทำให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วขึ้น พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้ากลับมายังกระทรวงคมนาคมตลอดเวลา และยืนยันว่าการดำเนินงานทันตามกำหนดการอย่างแน่นอน สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อไป.