วันพุธที่ 3 ม.ค. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ว่าเรื่องเศรฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ โดยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ในระบบ การลดราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง และเพิ่มขีดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นจะมีเรื่องด้านสังคม ความมั่นคง ผ่านการพัฒนากองทัพ และความมั่นคงให้ทันสมัยใกล้ชิดประชาชน ใช้การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ขณะที่ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขจุดด้อย บนหลักการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด รวมถึงไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคม

ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 67 จะขยายตัว 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ ร้อยละ 1.7–2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่น ๆ ในอนาคต

พยัคฆ์น้อย” ฟังความเห็นของ “ซีอีโอ” หลายองค์กรธุรกิจ ต่างก็มองภาพเศรษฐกิจปี 67 ไปในแนวทางเดียวกับนายกฯ คือเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น ความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานผันผวน และหนี้สินภาคครัวเรือนที่ทะลุไปกว่า 16 ล้านล้านบาท

โดยเฉพาะหนี้สินภาคครัวเรือน เป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมา 8-9 ปี กลายเป็นตัวฉุดรั้งกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ต้องทำงานหารายได้มาใช้หนี้มากกว่าการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ช่วง 8-9 ปีก่อน จึงต่ำเตี้ยอยู่แค่ปีละ 1.8-1.9% รั้งท้ายในอาเซียน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงป้วนเปี้ยนอยู่ที่ 8-22 บาท/วัน และ 2-16 บาท/วัน

สัปดาห์ที่แล้ว “พยัคฆ์น้อย” ลงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณปี 67 ไปพอสมควร แต่ในภาพรวมของโครงสร้างงบประมาณซึ่งมีแค่นั้น ยังกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือดัน “จีดีพี” ให้สูงกว่า 4% ไม่ได้! คนไทยจึงยังหนีไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ยังไม่หลุดพ้นความเหลื่อมล้ำ และความยากจนอย่างแน่นอน

“จีดีพี” ปี 67 สศช.ประเมินไว้ที่ 2.7-3.7% ยังไม่เพียงพอที่จะขยับค่าแรงขั้นต่ำให้ขึ้นไปถึง 400-450 บาท/วัน ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งของคนไทยลดน้อยถอยลงไปเยอะ เหลือแต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังต้องกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศที่ซบเซามานาน โดยไตรมาส 1/67 มีเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยไว้

ถ้าไตรมาส 2/67 (เม.ย.-มิ.ย.) ได้เงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เข้ามาเติมในระบบเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้านบาท
“จีดีพี” ปี 67 จะพุ่งขึ้นเกิน 4% อย่างแน่นอน สภาพความเป็นอยู่-คุณภาพชีวิต-ปากท้องคนไทยจะดีขึ้นกว่านี้!!.

—————
พยัคฆ์น้อย