เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม และผู้บริหารกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ร่วมแถลงข่าวกรณีเหตุล้อประคองหลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยนายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความห่วงใย และพยายามหาแนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และประชาชนที่เดินทางอยู่ใต้ทางรถไฟฟ้า ซึ่งการตรวจสอบต้องไม่ยุติเพียงเท่านี้ ต้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบเชิงลึกต่อไป ปัจจุบันบริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
“หากพบว่าเป็นความบกพร่องของผู้รับสัมปทานในเรื่องการซ่อมบำรุงไม่ดี และรับผิดชอบไม่เต็มที่ ในอนาคตกระทรวงคมนาคม จะมีสมุดพกบันทึกการทำงานของเอกชน สำหรับตัดคะแนนหากเกิดอุบัติเหตุ และปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข อันจะนำไปสู่การไม่ได้รับการเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม และขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องนี้ คาดว่าจะกำหนดเกณฑ์ออกมาได้ภายใน 2 เดือนนี้” รมว.คมนาคม กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เหตุการณ์ล้อประคองหลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เกิดจากข้อบกพร่องของโรงงานผู้ผลิต แต่สาเหตุเชิงลึกต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เนื่องจากต้องตรวจสอบในห้องวิจัยทางวิศวกรรม เพื่อพิสูจน์ว่ามีความบกพร่องอย่างไร โดยจากการตรวจสอบพบว่า วงรอบการใช้งานของล้ออยู่ที่ประมาณ 3.2 แสนกิโลเมตร (กม.) แต่ปัจจุบันการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 6.2 หมื่นกม. ถือว่าใช้งานไปประมาณ 20% เท่านั้น และจากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน)
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อยกระดับความปลอดภัย ประกอบด้วย 1.ให้ตรวจสอบอย่างละเอียดทุกขบวน 100%, 2.ให้ร่นระยะเวลาการตรวจเช็กจาก 15 วัน เป็น 7 วัน และเปลี่ยนตัวลูกปืนของล้อ จากปกติ 1 มิลลิเมตร เป็น 0.5 มิลลิเมตร และ 3.ให้ตรวจสอบ และเปลี่ยนชุดล้อทั้งหมดทุกขบวน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการประมาณ 3 ขบวน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 27 ขบวน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และเปลี่ยนอุปกรณ์ที่อยู่ในข่ายที่มีส่วนทำให้ล้อหลุดทั้งหมด เบื้องต้นตามแผนจะแล้วเสร็จทั้งหมด และเปิดให้บริการเก็บค่าโดยสารตามปกติได้ในวันที่ 6 ม.ค. 67 โดยให้บริการ 10 นาทีต่อขบวน และในชั่วโมงเร่งด่วน 5 นาทีต่อขบวน
“ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 ม.ค. 67 จะทยอยเพิ่มจำนวนขบวนรถที่ตรวจสอบแล้วเสร็จออกมาให้บริการ ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการให้บริการอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีต่อขบวน โดยช่วงนี้ จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (ฟรี) อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ เหตุการณ์เหล่านี้ต้องไม่เกิดซ้ำ ต้องทำให้ผู้โดยสาร และประชาชนมั่นใจในการใช้บริการ ส่วนบทลงโทษผู้ประกอบการนั้น ได้กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว ได้มอบให้ ขร. ลงไปดูในรายละเอียด ซึ่งตามปกติหากพบว่าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญา ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ” รมช.คมนาคม กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ประชุมได้มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียของรถไฟฟ้าโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) ซึ่งนำมาใช้กับไทยเป็นครั้งแรก ส่วนตัวรู้สึกเสียใจ และขอโทษประชาชน พร้อมกับตั้งคำถามไว้ว่า โมโนเรลเหมาะกับเมืองไทยหรือไม่ โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และขอดูสาเหตุที่แท้จริงก่อน เวลานี้ต้องมาคิดกันก่อนว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ทั้งนี้ เหตุการณ์ล้อรถไฟฟ้าโมโนเรลหลุดร่วงลงมาในไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ของโลก โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ประเทศบราซิล และครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่ประเทศจีน
ขณะที่นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดี ขร. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำผู้รับสัมปทานให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ชุดล้อประคองทั้งชุด ในขบวนรถที่ใช้ชุดล้อเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำมาให้บริการประชาชน ส่วนการพิจารณาว่าในอนาคตจะใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลในไทยอีกหรือไม่นั้น เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งใช้โมโนเรลเป็นครั้งแรก หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ก็ต้องมาทบทวนว่าควรจะใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลอีกหรือไม่.