ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยข้อมูลว่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยได้สำรวจความคิดเห็น จากผู้เข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2566 โดยมีผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เช่น สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ล้านนาด็อกเวลแฟร์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) วุฒิสภา สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี สำนักนิติการ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ชมรมคนรักช้างป่า ชมรมรักสัตว์ OCD ชมรมปลาทะเลไทย สมาคมเครือข่ายโคเนื้อ จำกัด บ้านรักสัตว์บางพลี กลุ่มรักษ์คลองสาน สมาคมแมวไทยจดทะเบียน FOUR-PAWS International-Thailand) มูลนิธิศักยภาพชุมชน กลุ่มสิทธิและโอกาสสัตว์ โรงเรียนเมืองปราจีนบุรี โรงเรียนบ้านคลองสิบสอง โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ สำนักกฎหมายเพื่อสังคม ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เป็นต้น และมีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)

นอกจากนั้น ยังได้มีการระดมสมอง (Brainstorm) จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้านกฎหมาย การสัตวแพทย์ เพื่อรวบรวมสรุปเป็นแนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เพื่อให้การทำงานด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์มีประสิทธิภาพประสิทธิผลการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดต่อไป โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ ควรเสนอเพิ่มเติมสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติให้คุ้มครองมากกว่าสัตว์ 5 ชนิด เห็นด้วย 96.7 %, การระบุความชัดเจนของความเป็นเจ้าของสัตว์ ในกรณีสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ แต่อาจมีบุคคลที่มีพฤติกรรมการเลี้ยงดูสัตว์เป็นประจำ รวมทั้งการเสนอความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ ในการสร้างความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น เห็นด้วย 55 %, เจ้าของสัตว์ที่มีเจตนาและพฤติกรรมในการปล่อยปละละเลย ปล่อยให้สัตว์ของตนไปสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น ควรต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย เห็นด้วย 100 % เช่น เจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ตนเองอย่างรับผิดชอบ เพื่อสวัสดิภาพของตัวสัตว์เอง และไม่ควรละเมิดผู้อื่น เพราะเวลาเกิดเหตุ เจ้าของสัตว์มักหลบหนี หรือไม่แสดงตน เจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น ต่อสัตว์ และสังคมส่วนรวมตามสมควรแก่เหตุที่เกิดขึ้น ข้อเสนอแนะ นำกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเปรียบเทียบปรับใช้, เจ้าของสัตว์หรือผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น สุนัขดุร้าย ต้องนำสุนัขไปจดทะเบียน เพื่อควบคุมการเลี้ยงและสร้างความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายให้กับผู้อื่น เห็นด้วย 82%, ควรเพิ่มเติม ข้าราชการตำรวจ เข้าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ เห็นด้วย 86.7%, ควรเพิ่มข้าราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดูแลเรื่องสัตว์ป่า เห็นด้วย 80.7%, ควรมีการแต่งตั้งบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม เข้าเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งสามารถดำเนินการทางคดี ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ เห็นด้วย 93.3% เป็นต้น

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า สำหรับตัวบทรายมาตราตามพระราชบัญญัติปัจจุบันนั้น ค่อนข้างครอบคลุม ชัดเจน และปกป้องการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีแล้ว แต่ขาดการนำสู่ปฏิบัติบังคับใช้ที่จริงจัง การเพิ่มเติมหรือขยายองค์ประกอบและการออกกฎหมายลำดับรอง ก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการอำนวยความสะดวกและสร้างความยุติธรรม เกิดดุลยภาพทางกฎหมายและสังคมส่วนรวม ให้สมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายมากยิ่งขึ้นต่อไป.