ในแต่ละปีวงการคณะสงฆ์ต้องสูญเสียพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้มากด้วยวิทยาคม และมีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย ทำมาค้าขึ้น เป็นต้น อีกทั้งพระเกจิแต่ละท่านยังมีความเมตตาสูง ช่วยสร้างวัด สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์มาโดยตลอด ส่งผลให้พระเกจิอาจารย์เหล่านี้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก เมื่อแต่ละรูปต้องมรณภาพไปย่อมนำมาซึ่งความเศร้าเสียใจของคณะศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ โดยตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งปีที่มีพระเกจิอาจารย์มรณภาพเป็นจำนวนมาก โดยทีมข่าว “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้รวบรวม 9 พระเกจิชื่อดัง ที่ได้ละสังขารไปในปี 2566 ดังนี้

หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม

“หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม” วัดกระดึงทอง

พระเทพมงคลวัชราจารย์ หรือ “หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดกระดึงทอง ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร และพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์ “หลวงปู่เหลือง” ถือเป็นเกจิอาจารย์องค์หนึ่งที่เจริญรอยตามครูบาอาจารย์ แน่วแน่กับการปฏิบัติภาวนา อยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย จนบรรดาลูกศิษย์ให้สมญานามท่านว่าเป็น “พระอรหันต์เจ้าผู้ติดดิน”

“หลวงปู่เหลือง” มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชราภาพ เมื่อเวลา 02.45 น. วันที่ 10 ม.ค.2566 ที่รพ.ศูนย์บุรีรัมย์ สิริอายุ 95 ปี 76 พรรษา

หลวงปู่จันทร์ โชติโก

“หลวงปู่จันทร์ โชติโก” วัดน้ำแป้งวนาราม

พระครูมงคลจันทโชติ หรือ “หลวงปู่จันทร์ โชติโก” เจ้าอาวาสวัดน้ำแป้งวนาราม อ.ปง จ.พะเยา ละสังขารด้วยอาการสงบเมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 18 ก.พ. สิริอายุ 97 ปี สร้างความเศร้าเสียใจให้กับคณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก

โดย “หลวงปู่จันทร์” นับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มากด้วยเมตตา บารมี รูปหนึ่งของเมืองไทย ศึกษาวิทยาคมอักขระเลขยันต์กับ หลวงปู่ครูบาหล้า ตาทิพย์ แห่งวัดป่าตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เรียนวิชาอาคมด้านอยู่ยงคงกระพัน จากพ่อหนานคำ และแลกเปลี่ยนวิชากับตุ๊เจ้าสง (อดีตเสือสง) วัดบ้านนาเหลืองม่วงขวา จ.น่าน สืบทอดวิชาแคล้วคลาด คงกระพัน จากพ่อหนานจันต๊ะ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมจากครูบาอาจารย์อีกหลายท่านในขณะนั้น อาทิ หลวงพ่อหา วัดดอนตัน อ.ท่าวังผา จ.น่าน และวิชาอยู่ยงคงกระพันจาก ครูบาวัน วัดคอนชัย อ.ปง จ.พะเยา สำหรับวัตถุมงคลที่เลื่องชื่อของท่าน ได้แก่ ตะกรุดลิงลม ส่วนคาถาประจำตัว คือ คาถาบังตาผี หลวงปู่เรียนคาถานี้มาจาก หลวงปู่หล้า ตาทิพย์ ใช้ติดตัวตลอด ขึ้นชื่อในเรื่องแคล้วคลาด ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกศิษย์เป็นอย่างดี

หลวงพ่อจอย ชินวังโส

“หลวงพ่อจอย ชินวังโส” วัดโนนไทย

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 พระครูอนุวัตรชินวงศ์ หรือ “หลวงพ่อจอย ชินวังโส” ที่ปรึกษาเจ้าคณะอ.โนนไทย เจ้าอาวาสวัดโนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อเวลา 06.00 น. ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา สิริอายุ 84 ปี 22 วัน พรรษา 61

“หลวงพ่อจอย ชินวังโส” นับเป็นศิษย์เอกของ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองไทย โดย “หลวงพ่อคูณ” เคยกล่าวไว้กับคนโคราชว่า “หลวงพ่อจอยองค์นี้แหละที่ทดแทนตัวกูได้” โดย “หลวงพ่อจอย” เคยปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พรรษาแรกที่อุปสมบท จากนั้นท่านก็ไม่ได้สนใจในเรื่องวัตถุมงคล จนมาถึง พ.ศ. 2533 จึงได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นตามคำเรียกร้องของญาติโยมและศิษยานุศิษย์ จำนวน 112 องค์ โดยทำเป็นรูปล็อกเกต เมื่อปี 2533 ปรากฏว่าผู้นำไปแขวนคอได้รับประสบการณ์ทางเมตตา แคล้วคลาด จึงทำเพิ่มอีก 300 องค์ ซึ่งท่านก็ได้มอบให้ญาติโยมและศิษยานุศิษย์ไปจนหมด ต่อมาในปี 2534 ศิษย์ขออนุญาตสร้างเหรียญรุ่นแรก ซึ่ง “หลวงพ่อจอย” ปลุกเสกถึง 3 พรรษา โดยในพรรษาสุดท้ายปี 2536 ขณะที่ท่านนั่งอธิษฐานจิตปลุกเสกอยู่นั้น ลูกประคำที่ใช้บริกรรมปลุกเสกได้แตกออกจากกัน เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้วจึงนำมาให้ญาติโยมและคณะศิษย์บูชาในงานประจำปีของวัดโนนไทย เมื่อวันที่ 7-9 ก.พ. 2537 ซึ่งรุ่นนี้ได้รับการขนานนามว่า “รุ่นประคำแตก” นอกจากนี้ยังมีมงคลวัตถุรุ่นต่างๆ อีกมากมายหลายรุ่นที่ “หลวงพ่อจอย” สร้างขึ้นตามความต้องการของลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธาเลื่อมใส โดยทุกรุ่นท่านจะปลุกเสกจนแน่ใจว่ามีพุทธานุภาพปกป้องคุ้มครองได้ จึงนำออกแจกจ่าย

หลวงปู่แสง ญาณวโร

“หลวงปู่แสง ญาณวโร” วัดป่าดงสว่างธรรม

หลวงปู่แสง ญาณวโร วัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเวลา 19.13 น. วันที่ 19 มิ.ย. 2566 สิริรวมอายุ 98 ปี 75 พรรษา ทั้งนี้ “หลวงปู่แสง” มีลูกศิษย์นับถือทั่วประเทศ เป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งยังเป็นศิษย์ร่วมธุดงค์และปฏิบัติธรรมกับพระสายกรรมฐานที่มีชื่อเสียงหลายรูป อาทิ หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่เทศก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย เป็นต้น

“หลวงปู่แสง” เคยตกเป็นข่าวครึกโครม กรณี “หมอปลา” มือปราบสัมภเวสี นำคณะสื่อมวลชนบุกวัดป่าดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังมีคนอ้างพฤติกรรมของหลวงปู่แสง ลวนลามหญิงสาว ที่เข้ามากราบไหว้ จนเกิดเป็นกระแสสังคม เนื่องจากศิษยานุศิษย์เชื่อว่า “หลวงปู่แสง” ไม่มีพฤติกรรมอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะมีอายุถึง 98 ปีแล้ว และยังป่วยเป็นอัลไซเมอร์ รวมทั้งเป็นพระสายป่าที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างยาวนาน สุดท้าย “หมอปลา” ต้องออกมากราบขอขมา เพราะพฤติกรรม “หลวงปู่แสง” ตามที่มีผู้กล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง 

หลวงปู่สนม อติธัมโม

“หลวงปู่สนม อติธัมโม” วัดพระปรางค์เหลือง

“หลวงปู่สนม” พระครูนิสิตคุณากร (สนม อติธัมโม) เจ้าอาวาสวัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองปากน้ำโพ โดย “หลวงปู่สนม” เป็นผู้สืบทอดพุทธาคมจาก “หลวงพ่อเดิม” วัดหนองโพ และเป็นผู้สืบทอดวิชาน้ำมนต์จินดามณี “หลวงพ่อเงิน” วัดพระปรางค์เหลือง “หลวงปู่สนม” ยังเป็นหนึ่งในพระเกจิที่ได้รับอาราธนา เจริญภาวนาอธิษฐานจิต พิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งและพระชัยวัฒน์อายุวัฒน์ และพิธีมังคลาภิเษกเหรียญที่ระลึก เนื่องในมงคลสมัยฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาลังฆปริณายก ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย

“หลวงปู่สนม” ได้มรณภาพลงแล้วด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 23.22 น. วันที่ 4 ก.ค. ที่รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ สิริอายุรวม 100 ปี 80 พรรษา

หลวงปู่ทอง

“หลวงปู่ทอง” วัดดอนไก่ดี

พระราชมงคลวุฒาจารย์ (สุวรรณ สุวิชาโน) หรือ “หลวงปู่ทอง”  วัดดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 เวลา 16.52 น. ที่รพ.กรุงเทพ สิริอายุ 107 ปี 83 พรรษา

“หลวงปู่ทอง” เป็นพระเกจิชื่อดังระดับแถวหน้าของเมืองไทย ทายาทสายพุทธาคม “หลวงพ่อรุ่ง” วัดท่ากระบือ อดีตพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำท่าจีน “หลวงปู่ทอง” ได้รับการกล่าวถึงในหมู่ลูกศิษย์ถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของวัตถุมงคลที่ “หลวงปู่ทอง” จัดสร้างขึ้น ซึ่งที่ได้รับความนิยม เช่น พระขุนแผนมหาเมตตาใหญ่, สีผึ้ง, แม่นางกวัก, เหรียญหลวงปู่ทอง รุ่นมหาลาภ เป็นต้น

หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล

“หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล” วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม

พระพรหมวชิรคุณ หรือ “หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล” เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม จ.เชียงราย ละสังขารอย่างสงบที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เวลา 17.24น. สิริอายุ 89 ปี 59 พรรษา 

“หลวงปู่ไพบูลย์” เป็นพระเถระที่มีลูกศิษย์จำนวนมากเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน เป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้าน ท่านมีความเคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ให้การอบรมศีลธรรมแก่สาธุชนที่เข้ามาทำบุญฟังธรรม เน้นให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ตามหลักเบญจศีล เบญจธรรม

หลวงพ่อพัฒน์ ปุญฺญกาโม

“หลวงพ่อพัฒน์ ปุญฺญกาโม” วัดห้วยด้วน

พระราชมงคลวัชราจารย์ (พัฒน์ ปุญฺญกาโม) หรือ “หลวงพ่อพัฒน์” อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจ.นครสวรรค์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดธารทหาร (ห้วยด้วน) พระเกจิชื่อดังอันดับต้นๆของเมืองไทย ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566  เวลาประมาณ 01.35 น. ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุ 102 ปี 78 พรรษา

“หลวงพ่อพัฒน์” เป็นศิษย์เรียนกรรมฐานและพุทธาคม หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และยังได้ออกธุดงค์ไปเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อชุบ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ และรับตำแหน่งเจ้าอาวาส รวมเป็นเวลา 6 ปี จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสระทะเล ขณะนั้นโยมพ่อโยมแม่ย้ายมาซื้อที่ดินทำนาอยู่แถวบ้านห้วยด้วน (ธารทหาร) เมื่อกำนันตำบลธารทหารทราบเรื่อง จึงพาโยมทั้งสองมาอาราธนาท่านให้มาช่วยพัฒนาวัด “หลวงพ่อพัฒน์” ก็ตอบตกลงและย้ายมาอยู่วัดธารทหาร (ห้วยด้วน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา โดยไม่ย้ายไปอยู่วัดอื่นเลย

หลวงปู่หา สุภโร

“หลวงปู่หา สุภโร” วัดสักกะวัน

พระเทพมงคลวชิรมุนี (หา สุภโร) หรือ “หลวงปู่หา” และลูกศิษย์ยังเรียกท่านอีกชื่อว่า “หลวงปู่ไดโนเสาร์” ที่ปรึกษาเจ้าคณะจ.กาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) จ.กาฬสินธุ์ ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2566 เวลา 17.52น. ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ สิริอายุ 98 ปี

“หลวงปู่หา” เป็นพระเถราจารย์ ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีศิษยานุศิษย์เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก ท่านเป็นศิษย์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ดังนี้ หลวงปู่พระครูประสิทธิสมณญาณ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี จ.กาฬสินธุ์ ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) ผู้ก่อตั้งวัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระสุทธิธรรมรังสี (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลําภู หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี จ.ร้อยเอ็ด พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์

ส่วนที่มาของชื่อ “หลวงปู่ไดโนเสาร์” มาจากการที่ท่านและหลับฝันเห็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่คอยาวเดินอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว เมื่อตื่นขึ้นจึงให้ลูกศิษย์ไปตรวจสอบ ก็พบกระดูกชิ้นใหญ่หลายสิบชิ้นจึงสั่งให้คนเก็บกระดูกนั้น กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2537 เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาตรวจสอบบริเวณร่องน้ำ ข้างถนนเชิงเขาภูกุ้มข้าว ขุดพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นไดโนเสาร์พันธุ์กินพืชที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา ภายหลังตั้งชื่อว่า อีสานโนซอรัสสิรินธรเน่ และมีการขอขุดค้นเพิ่มเติม และรวบรวมฟอสซิลไดโนเสาร์จากทั่วสารทิศมารวมที่วัดสักกะวัน และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสัตว์โลกล้านปี ได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ในปัจจุบัน