ไม่ว่าจะเป็น ปลาสวยงามน้ำจืด ปลาสวยงามน้ำเค็ม ปลากัดที่ชอบอยู่น้ำนิ่ง ๆ ปลาคาร์ปที่ชอบน้ำไหลเอื่อย ๆ ปลาทองที่ชอบแสงแดดอ่อน ๆ ปลาที่ต้องการที่หลบซ่อนเพราะตกใจง่าย และความแตกต่างอื่น ๆ อีกมากมาย สัตว์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี มีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ มีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการของระบบสืบพันธุ์ตามอายุ

รศ.สพญ.ดร.อรัญญา พลพรพิสิฐ

การดำรงชีวิตของปลาแตกต่างจากสัตว์บกอย่างมาก ปลาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำ ดังนั้นทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การขับถ่าย การสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายใจเกิดขึ้นในน้ำทั้งหมด ปลามีอวัยวะที่เรียกว่าเหงือกสำหรับหายใจใต้น้ำ ลักษณะการหายใจของปลาก็คือการปล่อยให้น้ำไหลเข้าช่องปากไหลผ่านเหงือกผ่านออกไปทางกระพุ้งแก้ม การหายใจเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยการอ้าปากให้น้ำเข้าแล้วปิดปากให้น้ำออกทางกระพุ้งแก้ม ปลาส่วนใหญ่หายใจด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่นนี้ กลไกที่เกิดขึ้นในระหว่างการหายใจก็คือในขณะที่น้ำไหลผ่านเหงือก ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำจะแพร่ผ่านเยื่อบาง ๆ ที่ผิวเหงือกเข้าสู่กระแสเลือดทางเส้นเลือดฝอยภายในเหงือก ในทางตรงกันข้ามคาร์บอนไดออกไซด์จะแพร่ออกจากเส้นเลือดฝอยผ่านออกไปในน้ำ ในภาวะปกติกลไกการหายใจนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ในน้ำมีปริมาณออกซิเจนเพียงพอต่อความต้องการของปลา แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกซิเจนในน้ำมีน้อยเกินไป ปลาจะหายใจเร็วขึ้น สิ่งที่ผู้เลี้ยงจะสังเกตเห็นคือปลาจะขยับกระพุ้งแก้มเร็วขึ้น เพื่อให้น้ำไหลผ่านในอัตราเร็วขึ้นเพื่อให้กลไกการแพร่ของออกซิเจนเกิดเร็วขึ้น ปลาก็จะได้รับออกซิเจนมากขึ้นและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายมากขึ้น หรือผู้เลี้ยงอาจสังเกตพบว่าปลาว่ายขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำบ่อยขึ้น นอกจากการหายใจเร็ว ๆ จะเกี่ยวข้องกับปริมาณออกซิเจนในน้ำยังเกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพของเหงือกเช่น เหงือกอาจเป็นเป็นแผล มีปรสิตเกาะ หรือในน้ำมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือสารละลายในระดับที่เป็นอันตรายกับปลา เช่น แอมโมเนีย ก๊าซไข่เน่า น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สารปรับสภาพน้ำความเข้มข้นสูงหรือแม้แต่เกลือที่ผู้เลี้ยงนิยมใส่ลงไปในน้ำภายหลังการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งถ้าใส่เกลือในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ปลาแสดงอาการหายใจเร็วได้เช่นเดียวกัน

ถ้าผู้เลี้ยงสังเกตเห็นอาการดังกล่าวให้พิจารณาว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาแสดงอาการผิดปกติและทำการแก้ไขในเบื้องต้นได้ เนื่องจากการเลี้ยงปลาโดยส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงในตู้ปลาหรือบ่อปลาซึ่งมีพื้นที่จำกัด ปลาไม่สามารถว่ายน้ำไปยังสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีพได้เอง ผู้เลี้ยงจึงควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของปลาและแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ปลามีความเป็นอยู่ที่ดี จึงจะเป็นการเลี้ยงปลาโดยไม่เป็นการทรมานสัตว์ หากเป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ ปลาไม่ถูกจำกัดบริเวณ ปลาก็จะสามารถว่ายน้ำไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมเบื้องต้นในการเลี้ยงปลาเพื่อให้ปลาหายใจได้ดีนั้นทำได้ง่าย ๆ เช่น กรณีเลี้ยงในตู้ปลาอาจเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยหัวทรายต่อกับปั๊มลม กรณีเลี้ยงในบ่ออาจเพิ่มเครื่องตีน้ำ หรือกังหันยกน้ำ กรณีเลี้ยงแบบบ่อประดิษฐ์อาจเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของน้ำด้วยปั๊มน้ำต่อเนื่องสู่บ่อกรอง การไล่ระดับบ่อให้น้ำไหลเวียนได้ การติดตั้งน้ำพุ หรือการสร้างน้ำตกเทียม เป็นต้น นอกจากการสังเกตอาการของปลาแล้ว ผู้เลี้ยงควรสังเกตสภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่ด้วย น้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ควรเป็นน้ำสะอาด อาจมีตะกอนขุ่นหรือมีสาหร่ายหรือมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อื่น ๆ อาศัยรวมอยู่ได้บ้าง แต่ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไปจนรบกวนการหายใจหรือความเป็นอยู่ของปลา น้ำต้องไม่มีฟองที่คงสภาพฟองอยู่นานหรือมีปริมาณมากหรือมีกลิ่นคาวจัด ไม่มีกลิ่นคลอรีน ไม่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง ตู้หรือบ่อเลี้ยงมีขนาดที่เหมาะสมกับชนิด ขนาด และจำนวนปลาที่เลี้ยง ได้รับแสงตามจำนวนชั่วโมงความสว่างความมืดตามธรรมชาติหรือใกล้เคียงธรรมชาติ มีที่หลบซ่อนตามสมควร มีการเติมน้ำทดแทนการระเหยหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ มีอาหารหรือการให้อาหารเหมาะสมตามความต้องการและลักษณะทางสรีระของปลาชนิดที่เลี้ยง

ถึงการจัดการเลี้ยงอย่างเหมาะสมในเบื้องต้นตามที่กล่าวมานี้ จึงจะกล่าวได้ว่าท่านรักและมีเมตตาต่อสัตว์เลี้ยงซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกหนึ่งในครอบครัวของท่านให้มีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี.