ผลจากกรณีศึกษาล่าสุดของทีมวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “Harvard T.H. Chan School of Public Health” ที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ชี้ว่าคนที่รับประทาน “เนื้อแดง” แม้เพียงแค่ 2 มื้อต่อสัปดาห์ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้น โดยระบุว่าอัตราเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณของเนื้อแดงที่บริโภคเข้าไป
ทั้งนี้ คำว่า “เนื้อแดง” หมายถึงเนื้อที่ได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เลี้ยงในฟาร์ม เช่น วัว หมู แกะ แพะ โดยเนื้อสดจะมีสีแดงตามธรรมชาติ
ก่อนหน้านี้มีกรณีศึกษาที่เคยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคเนื้อแดงกับโรคเบาหวานประเภท 2 มาแล้วว่ามีผลทำให้เกิดอัตราเสี่ยงโรคเพิ่ม แต่ในกรณีศึกษาครั้งนี้ ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพจากผู้เข้าร่วมจำนวน 216,695 คน ในระยะเวลาต่อเนื่องหลายปี ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่า การบริโภคเนื้อแดงส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจริง
ทีมวิจัยพบว่า ผู้ร่วมโครงการที่รับประทานเนื้อแดงมากที่สุด ทั้งแบบที่ผ่านและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้นถึง 62% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่รับประทานเนื้อแดงน้อยที่สุด นอกจากนี้ แต่ละมื้อที่รับประทานเนื้อแดงแปรรูปเพิ่มเติม จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 46% แต่ถ้าเป็นการรับประทานเนื้อแดงที่ไม่ผ่านการแปรรูปจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 24%
เซียวกู นักวิจัยหลังปริญญาเอกด้านโภชนาการ ผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า ผลของการศึกษาครั้งนี้เท่ากับสนับสนุนคำแนะนำว่าควรจำกัดปริมาณในการรับประทานเนื้อแดง ทั้งแบบแปรรูปและไม่แปรรูป
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์เคยรายงานข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐว่า ชาวอเมริกันบริโภคเนื้อวัวเป็นจำนวน 30,000 ล้านปอนด์ในปี 2564 ซึ่งเฉลี่ยได้ราว 60 ปอนด์ (27.2 กก.) ต่อคน ซึ่งหมายถึงชาวอเมริกันมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ที่กำลังเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น โรคเบาหวานยังเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคไต, โรคมะเร็งและโรคสมองเสื่อม
ที่มา : thecooldown.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES