ล่าสุด ธนาคารออมสิน ซึ่งมีบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ได้จัดงาน GSB Forum 2023 “ESG social Pillar driven คนยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนมิติการพัฒนา ESG ในเชิงสังคม ภายใต้คอนเซปต์ butterfly effect เริ่มต้นทำในสิ่งเล็ก ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ โดยได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง มาเป็นประธานเปิดงาน

ไฮไลต์สำคัญภายในงาน “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “How Does Social Bank Work on the Journey toward Sustainability?” โดยชี้ให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับ ESG ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ส่งเสริมการขับเคลื่อน ESG ด้านสังคมในเมืองไทย โดยเฉพาะสร้างการเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางสังคม และความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน นอกเหนือจากปัจจุบัน ที่หลายหน่วยงาน ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเน็ตซีโร่เพียงอย่างเดียว

ประเด็นต่อมา ต้องการเปลี่ยนมุมมองการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบ CSR ที่เป็นโครงการที่เน้นการดูแลช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แบบระยะสั้น ไปสู่การสร้างกิจกรรมแบบ CSV หรือ Creating shared value ที่ช่วยเหลือสร้างคุณค่าแก่สังคมอย่างยั่งยืน

ผอ. ธนาคารออมสิน ยังเผยถึงผลงานตลอด 3 ปีครึ่งที่เข้ารับตำแหน่งมา ได้เน้นการบริหารงาน ให้เกิดประโยชน์ใน 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือคน การสร้างผลกำไรและความเข้มแข็งให้กับธนาคาร และการช่วยดูแลสังคม พร้อมกับนำกำไรที่ได้จากธุรกิจแบงก์มาช่วยคนตัวเล็ก ผู้มีรายได้น้อย พร้อมกับมอบโจทย์ให้กับทุกสายงาน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายพัฒนาสินเชื่อ ให้คิดโครงการหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใด จะต้องนำประโยชน์เชิงสังคมเข้าไปใส่ในนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น การผลิตกระปุกออมสินในวันเด็ก แทนที่จะจ้างบริษัททั่วไปทำ แต่ธนาคารเลือกร่วมมือกับมูลนิธิออทิสติกไทยเปิดโอกาสให้ศิลปินเด็กออทิสติกของมูลนิธิฯ เป็นผู้วาดภาพลวดลายของกระปุก โดยการจ้างงานผ่านบริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้ผลิตให้

นอกจากนี้ ออมสินยังได้นำปัญหาทางสังคม เข้ามาเป็นโจทย์ในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือสังคม ควบคู่ไปกับสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นแก่องค์กร เช่น การรุกทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งนอกจากช่วยลดดอกเบี้ยในระบบให้คนไทยได้ประโยชน์กว่า 5 ล้านคนแล้ว ยังทำให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้น และภายในต้นปีหน้าจะมีการเปิดตัวธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย

จากการดำเนินงาน 3 ปีครึ่ง ที่ผ่านมา ออมสินได้ทำโครงการช่วยเหลือสังคมแล้วกว่า 63 โครงการ ช่วยเหลือคนได้ 17 ล้านคน และสนับสนุนสินเชื่อ 8.5 ล้านคน ที่สำคัญอย่างยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร โดยในปี 66 นี้จะมีกำไรสูงสุดถึง 3.3 หมื่นล้านบาท มีทุนสำรองกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท และสามารถนำส่งเงินเข้ารัฐได้สูงเป็นอันดับที่ 4 ได้

นอกจากนี้ ไฮไลต์อีกด้านภายในงาน ยังได้มีการปาฐกถา เรื่อง “GRAMEEN BANK, The Financial Service to Eradicate Poverty” ซึ่งเป็นโครงการที่รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นต้นแบบของธนาคารเพื่อสังคมแก่ผู้ยากไร้ โดย Prof. Dr. AKM Saiful Majid ซึ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจน และส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในบังกลาเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มผลกำไรสูงสุด เพื่อประโยชน์ของคนยากจน ให้คนจนเข้าถึงสินเชื่อ จะมีโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ ช่วยให้บุตรหลานผู้กู้มีโอกาสทางการศึกษา และมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อน คือพนักงาน ที่เน้นการลงพื้นที่เข้าหาลูกค้า โดยเจ้าหน้าที่ภาคสนามเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์และแรงจูงใจให้ผู้กู้ ให้ความรู้ในด้านอื่น ๆ เช่น การดูแลสุขภาพ การวางแผนครอบครัว สุขอนามัย และโภชนาการ ซึ่งช่วยให้ผู้กู้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยมีตัวชี้วัด เช่น การถือครองที่ดิน รายได้ และการจ้างงาน ส่วนธนาคารมีการเติบโตโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้ง

ภายในงานยังได้มีวงเสวนา เรื่อง Inspiring Discussion : Social Pillar Does Matter in Sustainability โดย Mr. Renaud Meyer Resident Representative, UNDP Thailand ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับ Creating Shared Value (CSV) โดย คุณปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRANDi and Companies และ Ms. Fiona Stewart, Lead Financial Sector Specialist, ธนาคารโลก และปิดท้ายด้วยการแสดงผลงาน และมุมมอง ตัวแทนชุมชนและสังคมที่ประสบความสำเร็จ.