รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) แจ้งว่า ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลก (World Bank) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงินค่าก่อสร้าง 4,841 ล้านบาท และการจัดทำแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา พ.ศ. 2567-2571 และความพร้อมของโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา วงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับทั้ง 2 โครงการ ซึ่งการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 13-15 พ.ย. ที่ผ่านมา การลงพื้นที่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้คณะผู้บริหารระดับสูงธนาคารโลก (World Bank) ได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้โครงการต่อไป ขณะนี้ ทช. ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมเรียบร้อยแล้ว
สำหรับทั้ง 2 โครงการจะใช้อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30 ได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา วงเงินค่าก่อสร้าง 4,841 ล้านบาท โดยในส่วนของค่าก่อสร้างมอบหมายให้กระทรวงการคลัง จัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณแบ่งเป็น 70:30 สัดส่วนเงินกู้วงเงิน 3,290 ล้านบาท (70%) และเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 1,410 ล้านบาท (30%) ส่วนค่าจ้างควบคุมงานคิดเป็นวงเงิน 141 ล้านบาท ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา วงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ต่างประเทศ 1,260 ล้านบาท (70%) และงบประมาณ 540 ล้านบาท (30%)
นอกจากนี้ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 66 จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม ทช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง เพื่อจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งการ MOU ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้ง 2 โครงการ นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ธนาคารโลกพิจารณาเห็นชอบ ประมาณเดือน ธ.ค. 66 เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะนำทั้ง 2 โครงการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะเริ่มสร้างใน 67-69 ระยะเวลา 3 ปี เปิดให้บริการในปี 70 จากเดิมมีแผนจะสร้างช่วงปลายปี 66 เปิดให้บริการในปี 69
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระยะทาง 7 กิโลเมตร (กม.) รูปแบบเป็นการก่อสร้างสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) บริเวณราวสะพานออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์อีกด้วย
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่าง อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จาก 80 กม. เป็น 7 กม. และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน-อ่าวไทย และเชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงและแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในกรณีเกิดภัยพิบัติ จะอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา จะก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่ง รวมระยะทาง 415 เมตร ระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร
ปัจจุบันการเดินทางระหว่างแผ่นดินใหญ่ ต.เกาะกลาง และเกาะลันตา จะใช้แพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะผู้โดยสารต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 1-2 ชั่วโมง ประกอบกับในบางเวลาจะมีปัญหาเรื่องระดับน้ำทะเลที่ขึ้นลงตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอุปสรรคของแพขนานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นโครงการดังกล่าว จะช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนสายหลัก แก้ปัญหาการเดินทางที่ล่าช้าโดยแพขนานยนต์ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ และกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค