เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ณ บริเวณโถงหน้าห้องประชุม 101 ชั้น 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วยนายวิทยา นีติธรรม โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมแถลงผลการดำเนินงาน อาทิ ผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. ประจำเดือน พ.ย.66 ผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน พ.ย.66 รวมถึงความคืบหน้าของการดำเนินการในคดีหุ้น STARK และคดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้

โดย นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 1,333 รายการ 60 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 2,559 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 26 รายคดี อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ปปง. ได้สรุปรายคดีสำคัญอันเป็นที่สนใจของประชาชน คือ ได้ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 16 รายคดี ทรัพย์สิน 430 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,422 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โฆษก ปปง. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ 1.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ปปง. ได้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวมจำนวน 42 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 64 ล้านบาท อาทิ รายคดีกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รวม จำนวน 24 รายการ เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท

ทั้งนี้ การอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีระยะเวลา คือ 90 วัน 2.ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ปปง. ได้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวรวมจำนวน 17 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 374 ล้านบาท อาทิ รายคดีของ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวน 16 รายการ เป็นเงินสด เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ และสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 349 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีทางอาญารายคดี นายชนินทร์ เย็นสุดใจ กรณี ทุจริตตกแต่งบัญชี บริษัท สตาร์คฯ ว่า การดำเนินคดีนั้น พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เร่งรัดให้สอบสวนต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบริษัท สตาร์คฯ และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม รวมถึงกลุ่มบริษัทลูกข่ายต่างๆ ซึ่งการสอบปากคำนั้น คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำแล้วทั้งสิ้น 160 ราย และได้รวบรวมพยานหลักฐานขยายผลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว 11 ราย แบ่งเป็น บุคคลธรรมดา 6 ราย และนิติบุคคลอีก 5 ราย และได้ออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 1 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ดังนั้น คาดว่าจะมีการสรุปสำนวนได้ภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า สำหรับการแจ้งข้อหานั้น ขอให้ผู้เสียหายไม่ต้องเป็นกังวลในส่วนของผู้ต้องหาที่ยังพักอาศัยอยู่ภายในประเทศไทยเพราะว่าในหมายจับได้มีการกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนยังได้มีการแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินสำหรับผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์รับ-โอน หรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 10 ปี

พ.ต.ต.ยุทธนา ยังกล่าวถึงการเข้าให้ปากคำของ ทายาทสีชื่อดัง ซึ่งตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาว่า คณะพนักงานสอบสวนยังไม่ได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของเจ้าตัว อีกทั้งตลอดการเข้าพบพนักงานสอบสวนทั้ง 2 ครั้ง เจ้าตัวยังคงให้การปฏิเสธพร้อมยื่นหนังสือแก้ข้อกล่าวหา และพร้อมต่อสู้คดี ส่วนรายละเอียดภายในสำนวนตนไม่สามารถเปิดเผยได้ต้องขอดำเนินการพิสูจน์ตรวจสอบก่อนว่ามีส่วนรู้เห็นต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และต้องดูว่าการขายหุ้นที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ต้องหาได้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชีด้วยหรือไม่ ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.

นอกจากนี้ จำนวนผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีอาจมีเพิ่มเติม ซึ่งถ้าหากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดอีก พนักงานสอบสวนจะดำเนินการทางอาญาทั้งหมด ส่วนขั้นตอนถัดไปคือการดำเนินการกับกลุ่มผู้รับรองการทำบัญชีหรือรับรองงบของบริษัท โดยที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายเรียกพยานไปถึงสองครั้งแก่บุคคล 1 ราย ซึ่งเป็นพนักงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของบริษัท สตาร์คฯ โดยเจ้าตัวได้มีการเลื่อนหมายเรียกเพราะอ้างอาการเจ็บป่วยซึ่งก็ได้มีใบรับรองแพทย์ประกอบมาให้ หากมีการเข้าพบพนักงานสอบสวนก็จะสอบถามในกรณีว่ามีความบกพร่องต่อการตรวจสอบบัญชีของบริษัทหรือได้ทำตามมาตรฐานของนักตรวจสอบบัญชีหรือไม่

ขณะที่นายวิทยา โฆษก ปปง. กล่าวเสริมว่า ส่วนการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ในจำนวนที่เราได้ยึดอายัดไว้ 349 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินสด เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ เพราะเป็นทรัพย์สินที่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ และแม้มูลค่าความเสียหายจะมีจำนวนมาก แต่เราก็ต้องยกเครดิตให้ ก.ล.ต. เพราะ ก.ล.ต. ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการอายัดทรัพย์จำนวนหนึ่งไว้พอสมควร

หลังจากนี้ เราต้องเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดอายัดไว้ไปพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินที่มีการตระเตรียมสำหรับกระทำความผิดหรือไม่ หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพราะรายการทรัพย์สินมีจำนวนมาก อาจมีความสลับซับซ้อน มีการจำหน่ายจ่ายโอนไปหลายทอด จึงต้องมีการคัดกรองทรัพย์สิน แต่ขอให้ผู้เสียหายสบายใจได้ว่าทรัพย์สินลอตแรกนี้ที่เราได้อายัดไว้ ยังไม่ได้ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปไหน ส่วนทรัพย์สินในลอตที่สองกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเราจะตรวจสอบทรัพย์สินทั้งที่อยู่ภายในประเทศและที่ไหลออกไปภายนอกประเทศ คาดว่าต้องใช้เวลาในการดำเนินการสักระยะ

โฆษก ปปง. กล่าวอีกว่า ส่วนทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาบางส่วนที่ถูกถ่ายโอนไปยังต่างประเทศนั้น ตนยังไม่ขอลงรายละเอียดเรื่องจำนวนมูลค่า หรือแหล่งปลายทางของทรัพย์สิน เพราะหากข้อมูลหลุดไป อาจทำให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินได้ แต่ขอเน้นย้ำว่าเรามีกระบวนการในการติดตามทรัพย์กลับมา

ทั้งนี้ ในกรณีการหลบหนีของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานบริษัท สตาร์คฯ ทาง ปปง. ได้มีการประสานกับกองคดีการต่างประเทศมาสักระยะใหญ่ๆ แล้ว อีกทั้งยังสามารถขอให้ศาลแพ่งร้องให้ทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดินได้ ซึ่งในกระบวนการเราได้ประสานทางศาลแพ่งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในอีกประเด็น คือ มาตรการทางอาญาและทางแพ่ง คือ ปปง.จะดำเนินการกับทรัพย์ที่มาจากการกระทำความผิด

ดังนั้น การที่ผู้เสียหายไปฟ้องทางแพ่ง ตรงนี้ก็สามารถนำมาบังคับคดีกับทรัพย์สินอื่น ๆได้ ถือเป็นการเสริมซึ่งกันและกันในการกวาดต้อนเรื่องทรัพย์สิน ซึ่งหากใครมีการรับโอนหรือครอบครองทรัพย์สินที่มาจากการกระทำความผิดของหุ้นสตาร์คก็จะมีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน โดยจะเป็นในกรณีที่ไม่ซ้ำกับที่ดีเอสไอดำเนินการ และที่สำคัญที่สุด ปปง. จะต้องพิจารณาว่าใครบ้างคือผู้เสียหาย เพราะบางคนได้รับค่าตอบแทนบางส่วนไปแล้ว หรือแต่ละคนเสียหายเท่าไร ก่อนหน้านี้มีการชำระอย่างไร แล้วได้คืนเท่าไร ซึ่งผู้เสียหายหรือผู้ลงทุนก็ต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ด้วยข้อเท็จจริง หากให้การเท็จก็จะถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จได้.