ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันจะลดลง แต่สถานการณ์ของผู้ป่วยระดับสีแดง ที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาใน ICU ก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐ รวมถึงเพื่อร่วมดูแลประชาชนทุกคน กลุ่ม ปตท. จึงได้จัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม ICU” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน โดยถือเป็น “โรงพยาบาลสนาม ICU ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ” ในขณะนี้
ทั้งนี้ สำหรับความสำคัญของ “โรงพยาบาลสนาม ICU” ใน “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ที่จัดสร้างโดย กลุ่ม ปตท. นั้น เรื่องนี้ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสนาม ICU แห่งนี้ มีความพร้อมรองรับระดับสูงสุด โดยจะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดงได้มากถึง 120 เตียง และที่สำคัญ ยังได้มีการจัดให้มีพื้นที่รองรับสำหรับผู้ป่วยโควิดระดับสีแดง ที่ต้องฟอกไตอีกด้วย โดยรองรับได้มากถึงจำนวน 24 เตียง เนื่องจากคนไข้โควิด-19 กลุ่มนี้ ถ้าหากไม่สามารถทำการฟอกไตได้ ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยได้ทุกระดับอาการแบบครบวงจรเช่นนี้ จะช่วยดูแลรักษาชีวิตประชาชนได้อย่างมาก
ขณะที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึง โรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ว่า สำหรับโรงพยาบาลสนาม ICU ที่ทาง กลุ่ม ปตท. ได้จัดสร้างขึ้นนี้ จัดสร้างขึ้นบนพื้นที่ 4 ไร่ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของโรงพยาบาลปิยะเวท โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มระดับสีแดง ด้วยมุ่งหวังว่าจะมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด
โรงพยาบาลสนามสีแดง นอกจากจะสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดงได้ถึง 120 เตียงแล้ว ในโรงพยาบาลสนาม ICU ยังได้ติดตั้งเครื่องช่วยหายใจ ระบบออกซิเจน ส่งไปถึงเตียงผู้ป่วยทุกเตียงโดยตรงอีกด้วย นอกจากนั้น เตียงคนไข้ภายในโรงพยาบาลยังออกแบบให้เป็นห้องที่แยกกัน ในลักษณะของห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ ทางกลุ่ม ปตท. ยังได้นำเอาเทคโนโลยีระบบดิจิทัล (Central Monitor) มาใช้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้สังเกตอาการผู้ป่วยได้ตลอดเวลา รวมถึงติดตั้งระบบกู้ชีพอัตโนมัติ และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ ที่ส่งภาพไปยังรังสีแพทย์ผ่านระบบทางไกลได้ทันที และมีรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้ถูกจัดเตรียมเอาไว้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ซึ่งทั้งหมดได้ออกแบบตามมาตรฐานห้องไอซียูในโรงพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยแบบเข้มข้น (Intensive Care)
ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยีนั้น กลุ่ม ปตท. ได้มีการนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. นำมาติดตั้งเพื่อใช้งานภายในโรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยระดับสีแดงอีกด้วย อาทิ นวัตกรรมเครื่องบำบัด PM2.5 และกำจัดเชื้อโรคในอากาศ (Hybrid Treatment for PM2.5 and Airborne Pathogens) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาโดย ทีมวิจัยจากสถาบันนวัตกรรม ปตท. ที่สามารถบำบัด PM2.5 ได้มากกว่า 90% รวมถึงสามารถกำจัดเชื้อโรคในอากาศได้มากกว่า 99% ในระบบเดียวกัน (ภายใต้การทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดไวรัสที่ก่อโรคในคนโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล โดยใช้ไวรัสที่มีลักษณะโครงสร้างคล้ายคลึงกับโควิด-19 ในการทดสอบ)
กลุ่ม ปตท. หวังให้ประชาชนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไปให้ได้ร่วมกัน