เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Chaturon Chaisang” ถึงการครบรอบ 15 รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยระบุข้อความว่า รัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆอย่างไร ผมเคยวิเคราะห์เกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาแล้วหลายครั้งในแง่มุมต่างๆ ในโอกาสครบ 15 ปี ขอแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยา แตกต่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆอย่างไรดังนี้ครับ
1.การรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างเป็นระบบของฝ่ายที่ไม่เชื่อถือในประชาธิปไตย ที่สำคัญนอกจากกองทัพและองค์กรภาคประชาชนที่สามารถกระทำความผิดกฎหมายได้อย่างไม่จำกัด แล้วที่แปลกใหม่ก็คือขบวนการตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระ
2.การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการสกัดกั้นขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองของระบบพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาที่กำลังทำให้ผู้มีอำนาจมาแต่เดิมไม่สามารถกำหนดควบคุมความเป็นไปของบ้านเมืองได้อีกต่อไป
3.การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีระบบกลไกที่ซับซ้อนและมีอานุภาพสูงเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งและไม่ยึดโยงกับประชาชนสามารถกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ตามอำเภอใจ
4.การรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ขัดต่อหลักนิติธรรมสากลที่กำหนดให้การใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคลเป็นเรื่องทำได้ หากไม่ใช่การลงโทษทางอาญา แม้การลงโทษนั้นอาจร้ายแรงกว่าโทษทางอาญาหลายประเภทก็ตาม รวมทั้งกำหนดให้การลงโทษบุคคลเนื่องจากความผูกพันกับองค์กรและการลงโทษเป็นหมู่คณะสามารถกระทำได้ แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่ได้กระทำผิดใดๆเลยก็ตาม
5.การรัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การทำให้กองทัพ ซึ่งมักไม่ขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนอยู่แล้วในทางปฏิบัติที่เป็นจริง กลายเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารคือไม่ขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนโดยกฎหมาย
6.หลังการรัฐประหารครั้งนี้ คณะรัฐประหารใช้การทำประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรมมาสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นครั้งแรกและยังใช้การทำประชามติมาเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ยากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นี้ได้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงและมีผลสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้
การรัฐประหารในปี 2557 เป็นความต่อเนื่องของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงมากยิ่งขึ้นและสืบทอดต่อเนื่องไปอีกให้ยาวนานที่สุด
จาตุรนต์ ฉายแสง
19 กันยายน 2564