เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า กมธ. มีการพิจารณาปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด ตามแนวชายแดนไทย โดยเชิญหน่วยงานหลักๆ คือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ประเด็นใหญ่ที่พิจารณา คือ ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมาย การก่ออาชญากรรมต่างๆ เกิดขึ้นทั่วไปตามแนวชายแดน การฟอกเงินตามตะเข็บชายแดน บ่อนกาสิโน การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาที่คนไทยบางส่วน อาจจะเข้าไปทำธุรกิจที่อาจรู้หรือไม่รู้ ว่าธุรกิจที่ทำเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เมื่อเกิดปัญหาความไม่สงบในเมียนมา ก็ทำให้คนไทยจำนวนมากติดค้างที่เมียนมา ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ส่วนหนึ่งอาจถูกควบคุมจากแก๊งค้ามนุษย์ และบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางกลับได้จริงๆ รวมถึงปัญหาอาชญากรรม เช่น กรณี สว.ทรงเอ ซึ่งเราได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจำนวนมากจากหน่วยงานต่างๆ
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า วันนี้จากข้อมูลที่ กมธ. ได้รับ ชี้ชัดว่ากาสิโนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายรอบชายแดน กาสิโนเหล่านี้จำนวนมากมาจากกลุ่มคนต่างชาติสีเทาที่เข้ามาลงทุน มีการซอยห้องในกาสิโนบางส่วนเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นี่คือปัญหาใหญ่ที่เราได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กาสิโนเหล่านี้บางส่วนอาจเกี่ยวพันกับยาเสพติด แต่สิ่งที่เรายังไม่เห็น คือแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้เราจะทราบข้อเท็จจริงว่าบ่อนกาสิโนเป็นศูนย์รวมของหลายอย่าง กมธ. คงต้องสะท้อนไปยังรัฐบาลว่าเราต้องคิดถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ตามตะเข็บชายแดนอย่างจริงจังได้แล้ว แม้รัฐบาลยังไม่มีแนวทางในขณะนี้ แต่ในส่วนของ กมธ. จะใช้กลไกต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อไป
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวถึงกรณีของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด และอาชญากรข้ามชาติ โดย กมธ. ได้สอบถามความคืบหน้าทางคดีกับ ป.ป.ส. และ ปปง. ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า ขณะนี้ทาง ป.ป.ส. ได้รับข้อมูลแล้ว เหลือแค่การสืบทรัพย์ และเข้าไปดูว่าทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นของ สว.อุปกิต ว่ามีอะไรบ้างที่ได้มาจากการค้าขายยาเสพติด คาดว่า สัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้าให้ประชาชนทราบ ส่วนทาง ปปง. มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลังจากแจ้งข้อหาไปแล้ว คือ ข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปกติอัยการต้องส่งเรื่องไปยัง ปปง. เพื่อให้ดำเนินการอายัดทรัพย์ต่อไป โดย ปปง. และ ป.ป.ส. ต้องทำงานควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม การที่ กมธ. สอบถามความคืบหน้ากรณีของ สว.อุปกิต เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่ากฎหมายบ้านเมืองเราจะใช้บังคับกับผู้มีตำแหน่งสำคัญในบ้านเมืองได้หรือไม่ เป็นบททดสอบที่ท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ สว.อุปกิต ไม่มีเอกสิทธิ์ เพราะไม่ได้อยู่ในสมัยประชุม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้
เมื่อถามว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการชี้แจงต่อ กมธ. หรือไม่ ว่าช่วงปิดสมัยประชุมจะดำเนินการการติดตามตัว สว.อุปกิต มาดำเนินคดีอย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นตนได้รับหนังสือจากทางอัยการว่า จะมีการแจ้งข้อหา สว.อุปกิต เป็นหนังสือที่ลงวันที่ก่อนปิดสมัยประชุม ในข้อหายาเสพติด และจากการพูดคุยใน กมธ. ตำรวจชี้แจงแล้วว่า มีการดำเนินการแจ้งข้อหาแล้ว วันนี้เป็นผู้ต้องหาคดีสมคบค้ายาแล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เราได้รับจากการพูดคุยใน กมธ. ซึ่ง สว.อุปกิต เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาเรียบร้อบแล้ว วันนี้เป็นผู้ต้องหาสมคบค้ายาไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนการสั่งฟ้อง ตนทราบมาว่าช่วงต้นเดือน ธ.ค. น่าจะมีการสั่งฟ้องต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับอัยการจะดำนินการต่อไปในเรื่องนี้ ซึ่ง กมธ. คงไม่สามารถก้าวล่วงได้ ส่วน ป.ป.ส. ชี้แจงว่า ขั้นตอนต่อไปคงเป็นการยึดอายัดทรัพย์ ซึ่ง ป.ป.ส. ยืนยันว่าคงใช้เวลาไม่นาน
เมื่อถามว่า หากเปิดสมัยประชุมในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ แต่ยังไม่มีการสั่งฟ้องกังวลหรือไม่ว่า จะมีการยืดเวลาออกไปอีก นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คงเป็นไปได้ที่ สว.อุปกิต จะใช้เอกสิทธิ์อีกครั้งหลังวันที่ 12 ธ.ค. แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รู้อยู่แล้วว่าจะเปิดสมัยประชุมในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ จึงขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ของท่านอย่างไร หวังว่าทุกอย่างควรเป็นไปตามที่ควรจะเป็น คือเป็นไปตามกฎหมายจริงๆ มาตรฐานใดที่ใช้กับผู้ต้องหารายอื่น เราหวังว่าสถานะของนักการเมืองจะถูกปฏิบัติแบบเดียวกัน เช่น เรื่องยึดอายัดทรัพย์หากคดีคนอื่นๆ จะเร็วมาก แต่กรณี สว.อุปกิต การยึดอายัดทรัพย์ถือว่าช้ามาก ป.ป.ส. และ ปปง. ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไมจึงปฏิบัติแตกต่างกัน
เมื่อถามว่า สว.อุปกิต มีการฟ้องร้องนายรังสิมันต์เพิ่ม 20 ล้านบาท โดยระบุว่ามีเจตนาใส่ร้าย มองเรื่องนี้อย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนตีความเจตนาว่าเขาคงต้องการไม่ให้ตนพูดเรื่องนี้อีก แต่เรื่องนี้ สว.อุปกิต เป็นผู้ต้องหาอาชญากรรมข้ามชาติ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ตนในฐานะ สส. ที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดความยุติธรรม ก็มีหน้าที่ต้องทำภารกิจนี้ ทั้งนี้ หากมีการใช้กลไกศาล ให้การทำหน้าที่ของตนดำเนินการต่อไม่ได้ ตนคิดว่าทุกฝ่ายต้องทบทวนตัวเองเช่นเดียวกัน ว่าสุดท้ายมาเบรก มาปิดปากกัน ไม่ให้ตนทำหน้าที่ได้ สุดท้ายท่านอาจต้องมีภาระทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้คนที่เคยช่วยเหลือ สว.อุปกิต เช่น ผู้พิพากษา ก็ถูกสอบวินัยร้ายแรงแล้ว และยังมีตำรวจอีก 12 นาย ที่มีแนวโน้มถูกสอบวินิยร้ายแรง หนึ่งในนั้นเป็นอดีต ผบ.ตร. อักษรย่อ ป.