เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาออนไลน์ “ค้นหาความหมายใต้พรม เยาวชนรุ่นสามเหลี่ยมดินแดง” ว่า จากการลงพื้นที่ศึกษา สัมภาษณ์เยาวชนที่ร่วมชุมนุมแยกดินแดง พบว่า เป็นกลุ่มอาชีวะ แตกต่างจากกลุ่มนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงเป็นเด็กบ้านหรือเด็กชุมชนทั้งใกล้และไกล เช่น สมุทรปราการ รามคำแหง ครอบครัวมีความเปราะบางได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากการบริหารงานของรัฐบาลโดยตรง ส่วนแนวทางการต่อสู้ ผู้ร่วมชุมนุมยอมรับว่าไม่ถนัดตามแนวทางการต่อสู้แบบกลุ่มนักศึกษา ปราศรัยไม่เก่ง และเคยเข้าร่วมมาแล้วทั้งสิ้น แต่มองว่าการต่อสู้เช่นนั้นยากที่จะชนะ ต้องสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ขณะที่ชุมชนโดยรอบเดิมเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง จึงมีแนวโน้มเข้าร่วมการชุมนุมของฝั่งตรงข้ามรัฐบาล
ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นเรียกว่าก่อจลาจล เพราะไม่ได้เผาทำลายบ้าน ทรัพย์สินประชาชน แต่เป็นการโจมตีสัญลักษณ์เชิงอำนาจของรัฐบาล รวมถึงตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของรัฐบาล และส่วนตัวยังมองว่ากลุ่มเยาวชนมีขอบเขตในการต่อสู้มากกว่า คฝ. อีก เพราะ คฝ.ระดมยิงแก็สน้ำตา ยิงกระสุนยางแบบไม่แยกเป้าหมาย ถ้าจะพูดถึงเรื่องอาวุธต่างๆ นั้น เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้หาได้ไม่ยาก แต่พวกเขาไม่นำมาใช้ มีแค่พลุไฟเป็นหลัก บางคนอาจจะบอกว่ารุนแรง แต่พวกเขามีการคุมโทนและรักษาขอบเขตพอสมควร อย่างไรก็ตามการใช้ความรุนแรงใส่กันโดยเฉพาะฝ่ายรัฐทำกับผู้ชุมนุมไม่ได้ทำให้เรื่องจบ มีแต่ขยายความรุนแรง สร้างความโกรธแค้น เสี่ยงเกิดความแตกแยกร้าวลึก ดังจะเห็นว่าแม้มีการจับกุมจำนวนมาก แต่ผู้ชุมนุมไม่ลดลง ทั้งหมดสะท้อนความล้มเหลวของแนวทางปราบหนัก ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการปราบปราม ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ที่มีคนเสนอให้รัฐบาลไปพูดคุยกับเยาวชน ตนยังนึกไม่ออกว่าจะคุยกับใคร เพราะการชุมนุมเป็นไปแบบต่างคนต่างมา ไม่มีแกนนำจริงๆ
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า มีอดีตเด็กจากบ้านกาญจนาที่คืนเรือนไปแล้วหลายปีมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนหนึ่ง มีหลายกลุ่ม ต่างคนต่างมา อาจจะมีบ้างที่ชวนกันมา แต่สิ่งที่พบคือ 1.เป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งกับตัวเอง และครอบครัวมีคนเจ็บป่วย แต่การเข้าถึงสวัสดิการรักษาเกือบศูนย์ ยุ่งยาก ซับซ้อน กระทบกับความรู้สึก ทำให้รู้สึกโกรธ 2. หนี้สินครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้เดิม หนี้ใหม่ งานก็ไม่มีให้ทำ เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวโดยพื้นฐานเดิมจะถูกเท ถูกทิ้ง อยู่แล้ว แล้วสถานการณ์โควิด ตอกย้ำการไม่มีตัวตน ไม่ถูกยอมรับ ไม่มีกลไกรองรับมากยิ่งขึ้น และด้วยประสบการณ์คนจำนวนมากอดีตเป็นเด็กช่าง เด็กที่หลุดจากการศึกษา ที่รู้สึกว่าอำนาจนิยมเป็นศัตรูร่วมผลักดันให้ออกมาต่อสู้ ซึ่งไม่ได้สนใจว่าคนถืออำนาจจะชื่อ ก.หรือ ข.แต่พาตัวเองมาที่แห่งนี้เพื่อปลดปล่อยความโกรธ ความเกลียดชัง จะไปตำหนิความเชื่อมโยงว่าเขาไร้เหตุผลไม่ได้ ใช่ว่าเขาไม่ใช่นักศึกษา ไม่ใช่นักเรียนเลว เขาไม่ใช่เด็กมีแสง แต่มีของ เขาขี่จักรยานยนต์ขั้นเทพ มีระเบิดปิงปองก็เอามา ที่เขาทำก็เหมือนกับที่ คฝ.ทำ ที่วิจารณ์ว่าเขาใช้ความรุนแรง เพียงแต่ใช้อาวุธคนละอย่าง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการที่รัฐไม่ได้มองว่าเด็กแบกปัญหาอะไรมาม็อบ เลยคิดแค่การปราบให้อยู่ ส่วนจะเจ็บ ตาย ก็มองว่ามีเงินเยียวยา ตรงนี้น่ากลัว เสี่ยงใช้อำนาจเกินความจำเป็นกับเด็ก
“หลายเรื่องอย่ามาถามหาเหตุผล แต่หากทบทวนสิ่งที่เขาแสดงออก จะบอกเราได้ดีว่าอำนาจนิยมเป็นสารตั้งต้นของระเบิดที่ดีมาก เขาบอกว่าเวลาที่ไปที่นั่นไม่ได้เผาบ้านชาวบ้าน แต่เป็นการทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจ และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เขากระทำต่อรัฐและรัฐกระทำต่อเขาเป็นคนละอย่าง ซึ่งทุกฝ่ายอ้างความชอบธรรมคนละแบบ แต่เป็นราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายร่วมกัน” นางทิชา กล่าว และกล่าวอีกว่า เด็กไม่ใช่นักปฏิวัติ และไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เลยเปิดประเด็นด้วยความทุกข์ ความสูญเสียส่วนตัวที่พาเขามาที่นั่น แต่เมื่อมาถึงแล้ว รัฐใช้ความรุนแรงกับเขา ทำให้ความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทางแก้คือต้องมีการพูดคุยกัน และทำความจริงให้กระจ่าง สื่อสารให้รัฐเข้าใจ องค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน ทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคประชาชนต้องรีบเข้ามาทำหน้าที่ของตน
ขณะที่ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า ตนทราบจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้การช่วยเหลือด้านคดี ให้กลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส ตั้งแต่วันที่10 ส.ค.-ปัจจุบัน พบว่ามีเยาวชนถูกดำเนินคดีเกือบ 100 คน เฉลี่ย 10 คน ต่อวัน อายุน้อยสุด13 ปี สูงสุด17 ปี ฐานความผิด ทั้งฝ่าฝืน พ.รก.ฉุกเฉิน รวมตัวเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดโควิด ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ผิดประมวลกฎหมายอาญา 215 มาตรา 216 ฐานต่อสู้ขัดขวาง และเริ่มมีฐานความผิดอัตราโทษสูงกว่าเดิม แต่บางรายก็พบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่ถูกรวบไปด้วย นอกจากนี้ยังพบมีผู้หญิงเข้าร่วมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยเป็นฝ่ายสวัสดิการ หิ้วอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ตลอดจนช่วยถืออุปกรณ์ป้องกัน ต่อสู้ เป็นต้น
ทั้งนี้ พบว่า ระหว่างจับกุมมีร่องรอยบาดแผลมากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นบาดแผลจากรถล้ม กระสุนยาง และบางคนถูกไม้กระบอง และมีเคสถูกยิงที่หัวไหล่ ยกเว้น รายที่ถูกยิงที่ศีรษะ ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา และที่ได้รับบาดเจ็บอีกไม่น้อยยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ยิ่งมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ต้องการจบเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด สถานการณ์จะยิ่งน่าเป็นห่วง จึงอยากให้สังคมช่วยกันจับตา.