น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และปัญหาหนี้สินของประชาชน เพราะแม้จะเริ่มกลับมาประกอบอาชีพหารายได้ได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งผลักดันมาตรการช่วยแก้ไขหนี้ครัวเรือน รวมถึงดูแลปราบปรามมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ ที่ฉวยโอกาสหลอกลวงในช่วงที่ประชาชนเดือดร้อนด้วย
ทั้งนี้ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เศรษฐกิจกิจไม่คล่องตัวและประชาชนมีความจำเป็นในการกู้เงินมาหมุนเวียนในครัวเรือน ได้ปรากฏกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก ล่าสุดพบการปล่อยสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่น โดยมีการส่งข้อความโฆษณาตรงไปยังโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ผู้ต้องการกู้เงินโหลดแอพพลิเคชั่นพร้อมยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อใช้ติดตามหนี้ และเอาเปรียบผู้กู้ในรูปแบบสารพัด ทั้งการหักเงินค่าดำเนินการสูง ให้เงินกู้ไม่เต็มตามสัญญากู้ คิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า ทวงถามด้วยวิธีทั้งข่มขู่ ทำให้อับอาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากจำเป็นต้องใช้บริการเงินกู้ เงินด่วนต่าง ๆ ขอให้ประชาชนตรวจสอบผู้ให้กู้อย่างรอบคอบ รู้ตัวตน รู้ที่ทำการ ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ควรเลือกผู้ให้กู้ที่เป็นสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์หรือนอนแบงก์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือกระทรวงการคลัง และมีกฎหมายกำกับที่ชัดเจน เพื่อกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นสามารถร้องเรียน หาผู้กระทำผิดเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายได้
ขณะที่ผู้ให้กู้หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบการกระทำผิดก็ต้องรับโทษหนัก เพราะปัจจุบันในการให้กู้ยืมเงินมีกฎหมายกำกับหลายฉบับและมีโทษทางอาญา เช่น พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้
“ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก มิจฉาชีพได้ก็เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น โดยส่งข้อมูลผ่านทั้งโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กวดขันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบประชาชนในช่วงที่ยากลำบาก โดยหากพบการทำผิดขอให้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาด”