หาดทรายสีขาวของเซเนกัล เต็มไปด้วยขยะพลาสติกจำนวนมาก รวมถึงถุงน้ำดื่มใสขนาดพกพาที่ถูกทิ้งกระจายอย่างเกลื่อนกลาด แม้ถุงน้ำดื่มเหล่านี้หาซื้อได้ง่ายในร้านค้า หรือตามแผงขายของริมถนน และด้วยราคาที่ถูกกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด พวกมันจึงเป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวันในเซเนกัล

แต่ทางกลับกัน พวกมันก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างขยะพลาสติกที่ทำลายประเทศเช่นกัน “อดัมส์ ทิดยานิส”  ศาสตรจารย์ด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงดาการ์ กล่าวว่า ถุงน้ำดื่มใช้เวลาในการย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกนานถึง 400 ปี ขณะที่รายงานในปี 65 ของกระทรวงการวางผังเมืองเซเนกัล ระบุว่า ประเทศมีขยะพลาสติกมากกว่า 250,000 ตันต่อปี แต่พวกมันถูกนำไปรีไซเคิลแค่ปีละประมาณ 30,000 ตันเท่านั้น

“ขยะเหล่านี้มีอยู่เต็มชายหาดหลายแห่ง และพวกมันเป็นส่วนหนึ่งของขยะพลาสติก ซึ่งเราพบเห็นมากที่สุด” ปาเป ดิออป หัวหน้าสมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของเซเนกัล กล่าว “เมื่อก่อนชาวประมงออกทะเลพร้อมกับน้ำดื่มบรรจุกระป๋อง แต่ตอนนี้พวกเขาดื่มน้ำจากถุง และทิ้งมันลงทะเล จากนั้นขยะเหล่านี้ก็ถูกคลื่นซัดมาเกยหาด เพราะทะเลไม่ต้องการมัน”

นอกจากจะสร้างมลพิษทางน้ำแล้ว ถุงพลาสติกยังอุดขวางทางระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในเมืองตามมา อีกทั้งการเผาพลาสติกร่วมกันขยะชนิดอื่น ๆ ก็เป็นการปล่อยสารพิษออกสู่อากาศเช่นกัน ในเมืองดาการ์ ถุงน้ำดื่มจำนวนมากถูกทิ้งตามสนามกีฬา พื้นที่ก่อสร้าง และสี่แยกที่มีคนพลุกพล่าน โดยพวกมันมีจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. – ต.ค. ของทุกปี

ทั้งนี้ เซเนกัลผ่านกฎหมายแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อปี 63 เพิ่มเติมจากกฎหมายปี 58 ทว่าถุงพลาสติก และพลาสติกประเภทอื่น ๆ กลับได้รับการยกเว้น เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้คนที่ใช้ชีวิตในทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น เซเนกัลยังมีบริษัทผลิตน้ำดื่มบรรจุที่แข่งขันกันในตลาด มากถึงประมาณ 50 แบรนด์ เนื่องจากการผลิตถุงน้ำดื่มมีต้นทุนต่ำ และกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน

“ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมของเซเนกัล ทำให้เราไม่สามารถแบนการใช้พลาสติกเหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิง”  คาดิดยาตู ดราเม ผู้ดูแลกิจการด้านกฎหมาย จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเซเนกัลกล่าว แม้ “เอ็มบาเย ลูม” หัวหน้าฝ่ายบริการสุขอนามัยแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุขเซเนกัล กล่าวว่า ผู้ผลิตถุงน้ำดื่มทุกราย ต้องได้รับอนุญาตการดำเนินงานจากรัฐบาล แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎด้านสุขอนามัย