รู้จักกับ “เจ้านุ๊ก” จักพัน ไพรสุวรรณ เซ็นเตอร์ที่ขึ้นมาโหม่งประตูให้ ทีมชาติไทย เสมอ เอสโตเนีย 1-1 ในเกมอุ่นเครื่องฟีฟ่าเดย์ เมื่อ 17 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา
ประตูนี้นับเป็นการปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่เล่นเอาเจ้าตัวน้ำตาซึม ขณะที่เพื่อนร่วมทีมต่างสะใจสุดขีด
จักพัน คนสงขลา ตากับยายเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็ก คุณตาเป็นนักกีฬาจังหวัดพังงา ที่บ้านชอบเล่นฟุตบอลหมด ผู้ชายเล่นทุกคน ผู้หญิงบางคนก็เล่น ส่วนตัวเริ่มเล่นบอลตั้งแต่อยู่เตรียมอนุบาล มีจัดแข่งกีฬาศูนย์เด็กเล็กขึ้นมา ก็เล่นตั้งแต่ 3-4 ขวบ เลิกเรียนประมาณสี่โมงเย็น เตะบอลกับเพื่อนทุกวัน พอ 5 โมงเย็น ยังไม่ถึงบ้าน ยายขี่มอเตอร์ไซค์มาตี มาไล่ให้กลับบ้าน
ได้เป็นนักบอลโรงเรียนตั้งแต่ ป.1 ตนเองถนัดเลี้ยง ถนัดยิง โค้ชเลยให้เล่นเป็นกองหน้า กระทั่ง ป.6 ได้เป็นตัวแทนจังหวัดสงขลา ลงแข่งฟุตบอลเยาวชนระดับประเทศหลายรายการ แถมยังเล่นได้สารพัดตำแหน่ง จากกองหน้า ขยับมาเล่นหน้าต่ำ ไปเล่นกองกลางบ้าง เล่นเซ็นเตอร์บ้าง แล้วแต่โค้ช
“เหมือนเราเป็นตัวหลักของทีม อย่างถ้าเจอทีมไม่เก่ง โค้ชจะให้เราเล่นกองกลาง หรือกลางรุก แต่ถ้าเจอทีมแข็ง เขาจะเอาเราไปเล่นเซ็นเตอร์”
มีโอกาสเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผ่านการทดสอบฝีเท้าเข้าเป็นนักฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบ ในชั้น ม.3 ก็ยังเป็นนักเตะสารพัดประโยชน์ที่เล่นได้ตั้งแต่กองหน้ายันกองหลัง ติดทีมโรงเรียนชุดลงแข่งฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ตั้งแต่เข้าไปปีแรก อยู่ชั้น ม.3 ขณะเพื่อนร่วมทีมเป็นรุ่นพี่ชั้น ม.5-ม.6 ตอนนั้น “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ มาเป็นโค้ช ได้ร่วมทีมกับ อดิศร พรหมรักษ์, ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร แล้วได้ลงตัวจริงทุกแมตช์ เคยเจอกับ อดิศักดิ์ ไกรษร กรุงเทพคริสเตียน
เนื่องจากเป็นเด็ก เข้ากรุงเทพฯ ปีแรกจึงหนัก ตอนซ้อมเคยโดน โค้ชโย่ง ด่าจนร้องไห้ อาจเพราะเป็นคนสงขลาบ้านเดียวกันด้วย สนิทกัน โค้ชโย่ง พยายามเข็น บอกว่าตนสามารถเบียด ม.6 ขึ้นมาเป็นตัวจริงได้ แต่ต้องกัดฟันสู้ ต้องมีหัวใจสู้
“แกด่าจนผมร้องไห้อยู่หนึ่งวัน แต่ก็พิสูจน์ตัวเองจนทำได้” โดย จักพัน เล่นฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีอีกครั้งหนึ่งขณะอยู่ชั้น ม.6 โดยเป็นกัปตันทีม เล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ๊ก ปีนั้นโรงเรียนสวนกุหลาบได้แชมป์ร่วมกับกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ติดทีมนักเรียนไทยขณะอยู่ชั้น ม.5 ชุดเดียวกับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ โดยจักพันประจำตำแหน่งแบ๊กขวาของทีมอย่างต่อเนื่อง จากนั้นเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จักพันได้เป็นนักฟุตบอลของสโมสรจามจุรี ยูไนเต็ด ในศึกดิวิชั่น 2 (ไทยลีก 3 ในปัจจุบัน) ซึ่งนับเป็นก้าวแรกในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ต่อด้วยเซ็นสัญญากับ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด อยู่ได้ 2 วัน ก็ถูกส่งไปทีม พัทยา ยูไนเต็ด เพราะตอนนั้น เมืองทอง ตัวเก่งๆ เยอะจริงๆ
แต่การเล่นกับ พัทยา ก็ไม่ง่าย นั่งสำรองบ่อยๆ ต้องปรับตัวเยอะมาก ยอมรับว่าไม่ทัน ร่างกายยิ่งสู้ไม่ได้ ตอนนั้นเล่นแบ๊กขวา เลกแรกลง 2 แมตช์ พอหมดเลกผมบอก “พี่นิว” พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี ว่าจะย้าย แต่ พีรดนย์ เห็นความสามารถ บอกให้รอโอกาส บอกว่า “เอ็งเล่นได้” เลยขออีกเลกหนึ่ง
“โค้ชอั๋น” สุรพงษ์ คงเทพ เข้ามาทำพัทยา ให้เล่นกองหลัง 3 ตัว จึงขยับไปเล่นเซ็นเตอร์ฯ แล้วพอได้โอกาสลงสนามก็ทำผลงานได้ดี ในเลกนั้นยึดตัวจริงยาวเลย 10 แมตช์ต่อเนื่องจนจบฤดูกาล พอฤดูกาลถัดมา ขึ้นเป็นตัวหลักของทีมในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ๊ก พร้อมข่าวดี เมื่อสโมสรซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น สมุทรปราการ ซิตี้ ได้ตัดสินใจซื้อตัวเข้าสู่ทีม จากนักเตะลีกรองเวลานั้น จักพันก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะไทยลีกเต็มตัว
“คงเป็นเพราะสมัยเด็กเล่นในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า หน้าต่ำ และกองกลาง เมื่อมาเล่นเซ็นเตอร์แบ๊ก จึงไม่ได้มีดีแค่เกมรับ แต่ยังเด่นในเรื่องการต่อบอล เล่นบอลเท้าสู่เท้า ออกบอลดี จ่ายบอลแม่น มีสายตาในการแทงบอลทะลุช่อง สร้างโอกาสให้เพื่อนทำประตู รวมทั้งการยิงฟรีคิกที่เจ้าตัวฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอมาตลอด”
สไตล์การเล่นของ จักพัน มองว่าเป็นเรื่องการ บิลด์อัพ หรือการขึ้นเกม เน้นการเปลี่ยนจากเกมรับให้เป็นเกมรุกได้เร็ว ไม่ต้องใช้จังหวะมาก เช่นเมื่อตัดบอลจากคู่แข่งได้ แทงไป เพื่อนหลุดเข้าไปยิงประตู เป็นเรื่องที่ มาซาทาดะ อิชิอิ (โค้ชสมุทรปราการ ตอนนั้น) เน้นในการฝึกซ้อม เขาได้เรียนรู้จาก อิชิอิ เยอะมาก ทั้งแทคติกการเล่นแล้ว และการไม่ยอมแพ้ อย่างเช่นในการซ้อม ถ้าให้วิ่ง 10 ม. ก็ต้องวิ่งเต็มฝีเท้าทั้ง 10 ม. ไม่ต้องชะลอเลยจนหยุด อย่างในเกมจริง ถ้าลูกบอลกำลังจะออก แล้วสปรินท์เต็มที่ ก็อาจเอาบอลไว้ได้
เส้นทางลูกหนัง พุ่งขึ้นเรื่อยๆ เซ็นสัญญาไปเป็นนักเตะ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมใหญ่ กระทั่งติดทีมชาติไทยโดยตลอด จนล่าสุดเป็นผู้โขกประตูเอสโตเนีย เป็นประตูแรกในทีมชาติไทย ประตูแห่งคงามปลื้มปิติ ที่เรียกน้ำตาของเขาออกมา.
(ข้อมูลจาก ช้างศึก- ภาพ ช้างศึก, ฟุตบอลทีมชาติไทย)