ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบประวัติบุคคลมากขึ้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรเข้าทำงานในองค์กร จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ โดยประชาชนอาจจะต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรประกอบการสมัครงานด้วย หลายคนมีประวัติถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด บางรายคดีไปถึงศาล เพราะถูกสั่งฟ้องคดี แต่เมื่อสู้คดีในชั้นศาลจนถึงที่สุดแล้วไม่ผิด! แต่ยังมีประวัติติดค้างอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ ต้องเสียโอกาส และเสียเวลาไปติดต่อขอปลดล็อกประวัติของตัวเอง
ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางในแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายนรินท์พงศ์กล่าวว่าหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.57 มีนักการเมือง ประชาชนทั่วไป และนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกแจ้งความดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก โดยคดีเบสิกที่สุด คือความผิดตามมาตรา 116 (ยุยง-ปลุกปั่น-ปลุกระดม) ฝ่าฝืนคำสั่ง และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
เจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกคำสั่งต้องตาม “ปลดล็อก” ประวัติอาชญากรด้วย!
โดยพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีหน้าที่ทำคดี และทำสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้อง
กรณีที่ 1 ถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าไม่สั่งฟ้องเด็ดขาด ก็จะส่งเรื่องกลับมาที่พนักงานสอบสวน ตรงนี้แหละที่พนักงานสอบสวนต้องทำหน้าที่ “ปลดล็อก” ประวัติของผู้ถูกดำเนินคดีออกจากสารบบของประวัติอาชญากร ไม่ใช่ให้ผู้ถูกดำเนินคดีไปวิ่งตามแก้ปัญหาของตัวเอง บางคดีอาจจะผ่านมาหลายปี ต้องเสียเวลาไปค้นหาเลขที่คดี และค้นหาคำสั่งของอัยการสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลานาน
กรณีที่ 2 ถ้าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการขอประกันตัวในชั้นศาล ซึ่งศาลจะมีคำสั่งไปที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่าห้ามบุคคลนี้เดินทางออกนอกประเทศ หรือเดินทางออกนอกประเทศได้ แต่ต้องขออนุญาตศาลได้เป็นครั้งคราว
ถ้ามีการสู้คดีจนถึงที่สุด คือศาลชั้นต้นยกฟ้อง แล้วอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ หรือสู้คดีจบ 3 ศาลแล้วไม่ผิด ตรงนี้ทางศาลควรเป็นผู้แจ้งไปยังตม. ให้ “ปลดล็อก” คำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
“ผมเคยหารือกับเลขาฯศาลอาญาในประเด็นดังกล่าว ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่ง ก็ควรเป็นคนไปตามปลดล็อกคำสั่งของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรการเท่านั้นเอง เนื่องจากมีตัวอย่างเกิดขึ้นกับคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกดำเนินคดีขัดคำสั่งคสช. แต่สู้คดีแล้วไม่ผิด แต่ถูกสั่งถอนหนังสือเดินทางไปแล้ว ห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ก็ต้องตามแก้ไขปัญหากัน ทำให้เสียเวลา รวมทั้งกรณีคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ เจอคดีทางการเมืองหลังรัฐประหาร แต่คดีไปไม่ถึงศาล เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผ่านมาหลายปีแต่ยังมีประวัติติดค้างอยู่ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุณพิชัยต้องตามไปแก้ไข ใช้เวลา 2 สัปดาห์ แต่ข้อมูลยังค้างอยู่หน้าจอ ซึ่งเสียเวลาอย่างที่ไม่ควรเสีย และอาจจะเสียโอกาสด้วย ถ้าจะเข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาล”
ถ้าเกิดกับคนทั่วไปจะยุ่งยาก! ฝาก “ต่อศักดิ์” ช่วยจัดการปัญหา
นายนรินท์พงศ์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นกับนักการเมือง หรือคนที่มีพวกพ้อง คนมีฐานะก็อาจจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าเกิดกับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด หรือคนที่ไม่มีฐานะ จะยุ่งยาก ลำบากมากในการติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขอปลดล็อกประวัติของตัวเองออกจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร
เนื่องจากถ้ายังมีประวัติติดค้างอยู่ ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ไปขอกู้เงินกับสถาบันการเงินก็ไม่ได้ เดินทางออกนอกประเทศก็ไม่ได้ ดังนั้นตนจึงบอกว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่เป็นคนออกคำสั่ง ต้องตามไปปลดล็อกให้เขาด้วย เพราะตอนเป็นคดีในชั้นพนักงานสอบสวน คุณกดลิงก์ข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหากันได้ทันทีทั่วประเทศ แต่เมื่ออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับหนังสือแจ้งจากอัยการสูงสุดแล้ว ต้องตามปลดล็อกประวัติของเขาออกจากสารบบ ภายใน 1-2 วันเป็นอย่างช้า ไม่ใช่ให้เขามาวิ่งเคลียร์ประวัติของตัวเอง โดยต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ประวัติค้างอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานไป! ถ้าเป็นคนที่ไม่มีฐานะ หรือไม่มีพวกพ้องจะยุ่งยากมาก
วันนี้คนที่พ้นมลทินทางคดี แต่หารู้ไม่ว่าประวัติยังติดค้างอยู่ในกองทะเบียนประวัติอาชญากร คุณอาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน เพราะยังไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ไม่ได้ไปสมัครงานที่ไหน ไม่ได้ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อไหร่ที่ต้องทำ 1 ใน 3 เรื่องนี้ คุณจะเดือดร้อนขึ้นมาทันที แล้วต้องรีบวิ่งไปขอปลดล็อกประวัติของตัวเอง ทำให้เสียเวลา หรืออาจสูญเสียโอกาสตามมาด้วย
“ผมจึงต้องย้ำไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะเป็นผู้ออกคำสั่ง ต้องรีบตามไปปลดล็อกประวัติให้เขาด้วยภายใน 1-2 วัน ต้องจบ! โดยเรื่องนี้ขอฝากไปยังพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ให้รีบดำเนินการสั่งการไปยังผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพราะเวลาออกคำสั่ง คุณลิงก์ข้อมูลกันได้ทั้งหมดทันทีทั่วประเทศ แต่ถ้าคดีจบแล้ว พนักงานสอบสวนต้องรีบเคลียร์ รีบปลดล็อกประวัติออกจากหน้าจอให้เขาด้วย” นายนรินท์พงศ์ กล่าว