เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หรือ ศูนย์ Rapid Response Center : RRC เพื่อติดตามสถานการณ์เหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลาง ประเทศอิสราเอล ที่กำลังเข้าสู่วันที่ 9 ของภาวะสงคราม และติดตามการให้ความช่วยเหลือพลเมืองชาวไทยและแรงงานไทย ที่ยังตกค้าง และได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามในพื้นที่ และกำลังรอการอพยพกลับประเทศไทย รวมถึงแนวทางความชัดเจนในการจัดเที่ยวบิน เพื่ออพยพคนไทยให้ได้วันละ 200-400 คน และแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ร่วมประชุม โดยได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมจัดหางาน สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานกรุงเทพ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายสากล สถานเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดประชุมว่า ขอบคุณทุกท่านขอบคุณที่สละเวลามาในวันนี้ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราต้องติดตามงานอย่างใกล้ชิดก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกๆ หน่วยงานที่ให้ความร่วมมืออย่างดีและให้ความสำคัญเรื่องนี้สูงสุดไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงานกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพไทย และเอกชนทุกรายไม่ว่าจะเป็นนกแอร์ แอร์เอเชีย และการบินไทยและอีกหลายๆ คนที่ไม่ได้กล่าวถึงต้องกราบขอบพระคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เห็นความสำคัญต่อชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน
ด้านนายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวรายงานว่า วันนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับการอพยพคนไทยในสถานการณ์อิสราเอล ขอรายงานแผนอพยพ มีสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นโดยตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 28 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 รายและผู้ที่ถูกลักพาตัว 17 ราย
จากนั้น เวลา 16.30 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมสถานการณ์ความไม่สงบที่อิสราเอล หลายท่านทราบอยู่แล้วมีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย การประชุมเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับการลำเลียงคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศอิสราเอลให้ได้เร็วที่สุด และรายงานเที่ยวบินออกจากอิสราเอล ซึ่งตนมีตารางบินในมือ (พร้อมโชว์ให้กับผู้สื่อข่าวดู) โดยภายในสิ้นเดือนนี้ จะมี สายการบินรับคนไทยทั้ง นกแอร์ แอร์เอเชีย การบินไทย และสไปซ์เจ็ท ทั้งหมดทั้งสิ้น 32 เที่ยวบิน รวม 5,700 คน ซึ่งยังไม่พอเพราะตอนนี้มีคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประมาณ 7 พันกว่าคนและตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลเรื่องการลำเลียงคนออกมายังเป็นปัญหาอยู่ เพราะการต่อสู่ยังไม่จบ ขณะนี้อิสราเอลยังเลื่อนการโจมตีทางบกไปอีกวันถึงสองวัน เป็นที่คาดว่าหากมีการโจมตีทางบก การต่อสู้ก็จะรุนแรงขึ้น ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เรื่องการลำเลียงคนทางบก หรือทางเรือ เรียกว่าประตูปิดแล้ว เพราะท่าเรือที่อิสราเอลตอนนี้ปิดไปแล้วไม่สามารถออกมาได้ จึงต้องพึ่งทางอากาศอย่างเดียว ตอนนี้ทางสถานทูตไทยประจำอิสราเอลทำงานอย่างเต็มที่ สามารถนำคนมาอยู่ในศูนย์พักพิงได้วันละประมาณ 400 คน ฉะนั้นถือเป็นตัวเลขที่ดี แต่ถึงอย่างไรเรายังมีเครื่องบินไม่พอ เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงอยู่
เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่น่าไว้วางใจ เพราะสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย
นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องของเอกสารของแรงงานชาวไทยอาจทำหายหรือมีมาไม่ครบ ทางสถานทูตได้อำนวยความสะดวกให้เข้ามาศูนย์พักพิงและทำเอกสารรับรองให้สามารถบินได้ เป็นการอำนวยความสะดวกซึ่งทำได้วันละประมาณ 200 ราย ถือว่าเรื่องเอกสารไม่ใช่ปัญหา ส่วนการลำเลียงคนด้วยเครื่องบินขณะนี้มีสองช่องทาง คือบินตรงจากอิสราเอลมากรุงเทพฯ กับการไปพักที่ดูไบ จอร์แดน สาธารณรัฐไซปรัส แล้วนำเครื่องบินไปรับอีกช่วงหนึ่งเพื่อเร่งนำคนออกจากอิสราเอลให้ได้โดยเร็ว สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับมาไทยแล้ว ทางรมว.แรงงาน แจ้งแล้วว่าจะดูแลอย่างดีที่สุด มีเงินเยียวยา และพยายามหาแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด เมื่อถามว่าแรงงานไทยที่อยู่พื้นที่เสี่ยงยังสามารถสื่อสารได้อยู่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าการสื่อสารไม่ได้ถูกตัดขาดแต่อาจขาดบางช่วงบางตอน เพราะมีการใช้เครือข่ายกันเยอะ
นายเศรษฐา กล่าวถึงจำนวนตัวประกันว่า เป็นที่ทราบดีว่ามี 17 คน โดยเราใช้ 4 ช่องทางพยายามติดต่อนำตัวประกันกลับมาให้ได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด โดยใช้ช่องทางทางการทูต หน่วยข่าวกรอง ซึ่งมีการคุยกันระหว่างข่าวกรองต่างประเทศและการทหาร นอกจากนี้ยังใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ภาคประชาคมหรือเอ็นจีโอ ที่มีเครือข่ายอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราพูดคุยมาโดยตลอด โดยกระทรวงการต่างประเทศพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอล เพื่อขอคนของเราให้กลับมาได้ปลอดภัยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ แต่ทุกคนที่อยู่ที่นี้และกองทัพไทย พยายามหาช่องทางเพิ่มมากขึ้น ในการเพิ่มเที่ยวบิน เอาคนไทยกลับมาให้ทันในสิ้นเดือนนี้ให้หมด
เมื่อถามว่าจนถึงขณะนี้มีปัญหาอะไรน่ากังวลใจที่สุด นายเศรษฐา กล่าวว่า มี 2-3 ปัญหา ปัญหาแรกคือการนำคนจากจุดเสี่ยงมาสู่ศูนย์พักพิงและเดินทางเข้าสู่สนามบินพร้อมออกเดินทาง และสองคือเรื่องของเที่ยวบินที่จะนำเข้าไปได้ ในที่ประชุมผู้ใหญ่หลายท่านเสนอเข้ามาให้เช่าเครื่องบินเพิ่มเติม และหลายคนที่ไปสุวรรณภูมิอาจเห็นเครื่องบินแอร์บัส 380 ที่จุคนได้ประมาณ 500 กว่าคน ถามว่าทำไมไม่เอาเครื่องดังกล่าวไปรับ ได้สอบถามทางการบินไทย ได้รับการชี้แจงว่าเครื่องบินเหล่านั้นจอดมานานต้องซ่อมบำรุง อีกทั้งนักบินไม่ได้บินนานตามกฎแล้วต้องไปฝึกอบรมเพิ่มต้องใช้เวลา จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช้าเครื่องบิน แอร์บัส 380 มา เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราดูอยู่
เมื่อถามว่า ตัวประกันที่ถูกจับทั้ง 17 คน จากการประสานช่องทางการทูตกับอิสราเอล ทั้งหมดยังปลอดภัยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ วันนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่
เมื่อถามย้ำว่ายังไม่ได้รับคำตอบว่าตัวประกันจะได้ปล่อยตัวเมื่อไหร่ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ใช่ครับ แต่มีการคุยกันโดยตลอด โดยวันนี้นายปานปรีย์ จะคุยกับบางประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าตัวประกันจะปลอดภัย
เมื่อถามว่า จะให้ความมั่นใจกับครอบครัวตัวประกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เราเห็นใจ แต่เรายังติดต่อไม่ได้จริงๆ เราใช้ทุกช่องทางอยู่แล้ว แต่การที่ยังติดต่อไม่ได้ และยังไม่มีข่าวร้ายออกมาก็ถือว่าเรายังมีความหวัง เราทำเต็มที่ไม่ได้สิ้นหวัง
เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตคนไทยที่สูงขึ้นจะทำให้เรามีการปรับท่าทีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีเราเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เราเกิดความสูญเสียอันดับต้นๆ เพราะเรามีแรงงานอยู่ในประเทศนั้นเยอะ เขาคงไม่ได้เจาะจงมาทำร้ายคนไทยหรอกคนคิดเช่นนั้น เราไม่มีส่วนในความขัดแย้ง เราพยายามช่วยเจรจาทั้งสองฝ่าย จุดมุ่งหมายของเราคือนำคนไทยที่เป็นตัวประกันออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนคนที่ไม่ใช่ตัวประกันและต้องการเดินทางกลับก็ต้องให้กลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าเราไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย นายเศรษฐา กล่าวย้ำว่า “ไม่ใช่ครับ”
เมื่อถามว่า แต่แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรที่ผลิตเสบียงป้อนกองทัพอิสราเอล จะทำให้เป็นเป้าในการโจมตีหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า แรงงานไทยไม่ได้เป็นชาติเดียวที่อยู่ตรงนั้น เชื่อว่าทางฮามาสไม่ได้เจาะจงที่แรงงานไทยโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ในคืนวันเดียวกันนี้ไม่ได้ไปต้อนรับคนไทยที่จะเดินทางกลับและลงที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (16 ตค.) ต้องเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและซาอุดิอาระเบียวันนี้ขอทำงานอยู่ข้างหลังดีกว่า และมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่จะไปต้อนรับและให้กำลังใจ ก็แบ่งกันทำงาน ยืนยันว่าจะดูแลให้ดีที่สุด.