จากกรณีข่าวกดเงินจากตู้ ATM หน้าสาขาธนาคารแห่งหนึ่งที่ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แล้วกังวลว่าได้รับธนบัตรปลอมนั้น ทางเฟซบุ๊ก “ธนบัตรทุกเรื่อง” ซึ่งเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธนบัตรไทยและบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน จัดทำโดยสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย
ยืนยันแล้วว่า “เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 64 ศูนย์จัดการธนบัตร นครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พบกับผู้เสียหายและได้รับธนบัตรฉบับที่เป็นข่าวมาตรวจพิสูจน์แล้ว พบว่าธนบัตรฉบับนี้เคยถูกสารเคมี จึงทำให้แถบสีหลุดลอกบางส่วน ขนาดธนบัตรหดสั้นลง และเนื้อกระดาษหยาบกว่าปกติ จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นธนบัตรปลอม”
นอกจากนี้ “ธนบัตรทุกเรื่อง” ยังบอกวิธีสังเกตดูธนบัตรว่าของจริงเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้หลายจุด เช่น ธนบัตร 1,000 บาทสังเกต “แถบสีในเนื้อกระดาษ” ที่เป็น “แถบสีทอง”
1. เป็นพลาสติกสีทองที่ฝังไว้ในเนื้อกระดาษตามแนวตั้งของธนบัตร จึงเรียกว่า “แถบสีทอง”
2. ในมุมปกติจะมองเห็นเป็นเส้นประแต่เมื่อส่องกับแสงจะเห็นเป็นเส้นตรงและมีข้อความ “1000 บาท 1000 BAHT”
3. เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และลวดลายในแถบจะกลิ้งเคลื่อนไหวไปมาได้
4. แถบสีอาจมีรอยขูดขีด หลุดลอกชำรุดจากการใช้งานได้
5. แถบสีที่อยู่ในเนื้อกระดาษธนบัตรแต่ละฉบับสามารถอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกันได้ โดยอาจเลื่อนไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย ตามระยะที่มาตรฐานกำหนดไว้
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยควรตรวจสอบจุดอื่นเพิ่มเติมด้วยอย่างน้อย 3 จุด โดย 3 วิธีสังเกตธนบัตร ดังนี้ สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง