“เราเริ่มมาจากความต้องการส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ก่อน จากนั้นจึงนำเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมมาเป็นหัวใจหลักเพื่อดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการจัดการเรื่องของขยะอาหาร“ เป็นจุดเริ่มต้นของ “เคี้ยวเขียว” ที่ทาง ธี-ธีรพจน์ เมฆเอี่ยมนภา” ผู้ดูแลและขับเคลื่อนธุรกิจอินเทรนด์ซึ่งยึดโยงกับกระแสรักษ์โลกในปัจจุบัน บอกกับเราไว้ ซึ่งสิ่งที่ชายหนุ่มคนนี้ดูแลอยู่นั้น นอกจากจะมีไอเดียที่น่าสนใจแล้ว เรื่องราวที่มาที่ไปก็นับว่าน่าติดตามไม่แพ้กัน โดยวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับผู้ชายคนนี้…

ต้องยอมรับก่อนว่า จริง ๆ ไม่ได้มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์มาก่อนเลย เพราะด้วยความที่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ชนิดที่เรียกว่าเป็นเด็กเมืองคนหนึ่ง ที่ไม่เคยได้สัมผัสวิถีของการเกษตรเลย ขนาดอายุ 30 กว่าแล้ว ต้นไม้บางชนิดก็ยังไม่รู้จักเลยว่าต้นนี้เป็นต้นไม้อะไร ชื่ออะไร

ธีธีรพจน์ ผู้ก่อตั้งและดูแลขับเคลื่อน เคี้ยวเขียว ซึ่งเขาได้ให้นิยามไว้ว่าเป็นธุรกิจจัดเลี้ยงที่รักษ์โลก ออกตัวกับเราในช่วงการเริ่มต้นบทสนทนา โดยเขาได้เล่าให้ฟังถึงช่วงชีวิตก่อนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเลี้ยงสีเขียวว่า หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ก็เข้าเรียนด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งพอเรียนถึงปี 2 เขาก็เริ่มทำงานเป็นเซลส์แมนขายของไปด้วย จนเพื่อนที่เรียนพร้อม ๆ กันเรียนจบกันไปแล้ว ทำให้เขาตัดสินใจดร็อปเรียนแล้วออกมาทำงานหาเงินอย่างเดียว แต่ทำงานเป็นเซลส์แมนอยู่ระยะหนึ่งก็มีเพื่อนมาชวนให้ไปขายข้าวสาร จนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองได้ โดยเขาก็ได้ทำธุรกิจนี้เรื่อยมา แต่แล้วก็มีจุดเปลี่ยนชีวิต เมื่อคุณแม่ของเขาเสียชีวิต ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตเคว้งคว้าง และไม่มีเป้าหมายในชีวิต เพราะไม่รู้ว่าจะทำงานไปทำไม ทำให้เขาจึงตัดสินใจเลิกทำธุรกิจ และเอาตัวเองออกจากสังคม

ระหว่างที่เลิกทำงานนั้น เขาก็ได้ย้อนกลับไปทำเรื่องในอดีตที่ทำไม่สำเร็จ นั่นคือ เขาตัดสินใจกลับเข้าห้องเรียน โดยเขาเลือกเรียนต่อทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ ซึ่งการกลับมาเรียนครั้งนี้ เขาทุ่มเทตั้งใจมาก จนใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่าก็เรียนจบได้สำเร็จ โดยเจ้าตัวเล่าว่า… ตอนนั้นเหมือนเป็นการชาเลนจ์ตัวเอง เพื่อแก้ปมชีวิตของตัวเอง และการกลับไปเรียนครั้งนี้ มันก็เป็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมาก จากที่มีคำถามตลอดว่าทำแล้วได้อะไร กลายเป็นว่าเราทำอะไรได้ และทำให้เรามีทิศทางในชีวิตธีบอกกับเราถึง “จุดเปลี่ยนชีวิต” จุดนี้

ส่วน “จุดเริ่มต้นของเคี้ยวเขียว” ที่เขาได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและดูแล เรื่องนี้เขาบอกว่า หลังเรียนจบ เขาก็เริ่มมารู้จักกับคำว่า จิตอาสา โดยเขาเล่าว่า ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ ปี 2010 ตอนนั้นมีการหาจิตอาสาไปทำแปลงผักในชุมชนผู้สูงอายุ ที่ จ.อ่างทอง เขาก็ตัดสินใจสมัครทันที ซึ่งการไปทำงานจิตอาสาครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกของเขา ที่ทำให้ได้รู้จักการปลูกผัก เพราะที่ผ่านมาเขาไม่เคยรู้จัก และไม่เคยทำมาก่อนเลย ทำให้ได้รู้ว่าผักที่เคยกินหน้าตาเป็นแบบนี้ ปลูกแบบนี้ และผักอินทรีย์เป็นยังไง ทำให้เขาได้เรียนรู้แนวทางผักอินทรีย์ ซึ่งเขารู้สึกดีและเริ่มสนใจมากขึ้น จนได้เจอประโยคที่ว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดซึ่งบางคนที่แพ้สารเคมีในผัก คนคนนั้นแพ้จริง ๆ ทำให้ยิ่งอินยิ่งชอบมากขึ้น จึงเริ่มศึกษาเรียนรู้เกษตรอินทรีย์แบบจริงจัง ขณะที่การไปเป็นจิตอาสาก็ยังเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้ง โดยธีเล่าว่า…

กิจกรรมที่เราไปร่วมนี้ ทำให้ได้เจอกับแฟน (มิ้มอธิพาพร เหลืองอ่อน) โดยเขาเป็นทีมงานที่จัดกิจกรรม เราก็เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกับการตามจีบเขาไปด้วย (หัวเราะ) ซึ่งแฟนเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เป็นเสมือนแม่เหล็ก และแสงสว่างที่นำทางเรามาจุดนี้ จากที่ไม่เคยรู้จักเกษตรอินทรีย์ ก็ได้รู้จักและหลงรักจริงจัง

ใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชน-ภาชนะรักษ์โลก

ธียังเล่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นผู้ดูแลขับเคลื่อน “เคี้ยวเขียว” ว่า เริ่มจากแฟนนำพาให้เขาเดินมาทางนี้  โดยช่วงแรก ๆ เขาไม่ได้เข้าแบบเต็มตัว เพราะตอนที่เริ่มคบหาดูใจกับแฟน เขาก็เพิ่งจะเริ่มทำธุรกิจคาร์แคร์ แต่หลังจากทำมา 3 ปี จนครบสัญญา ทำให้ต้องหยุดทำธุรกิจนี้ แฟนของเขาจึงพาไปทำงานตำแหน่งผู้จัดการของร้านอาหารมังสวิรัติชื่อ “Health Me” ของ ป้าหน่อยพอทิพย์ เพชรโปรี ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มทำธุรกิจจัดเลี้ยงสีเขียว เคี้ยวเขียว Green Catering” ขึ้นมา โดยเกิดขึ้นจากจุดประสงค์แรกคือ ต้องการ ช่วยเหลือเกษตรอินทรีย์ ที่ตอนหลังจึง ยึดโยงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามมา

ธุรกิจนี้เริ่มมาจากป้าหน่อยซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักมาก ๆ โดยป้าหน่อยทำงานสนับสนุนให้เกิดคำว่าเกษตรอินทรีย์ในสังคมไทยมานานหลายปี และท่านยังเป็นผู้ที่ก่อตั้งเคี้ยวเขียวขึ้นมาอีกด้วย โดยเกิดขึ้นเพราะตอนนั้นเราจะประชุมงานกันค่อนข้างบ่อย และเมื่อประชุมทีหนึ่งก็ต้องสั่งอาหารจากข้างนอกเข้ามา ซึ่งป้าหน่อยก็มองว่าเราเปิดร้านอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว ก็ต่อยอดมาเป็นบริการรับจัดเลี้ยงเพื่อสุขภาพเลยแล้วกัน ธุรกิจนี้จึงเกิดขึ้นมา โดยวัตถุดิบทุกอย่างได้มาจากวิธีผลิตแบบธรรมชาติ จนปี 2017 ป้าหน่อยก็วางแผนที่จะเกษียณตัวเอง จึงค่อย ๆ ปลดธุรกิจให้คนอื่นเข้ามาดูแลต่อ ซึ่งเคี้ยวเขียวก็ให้ผมกับแฟนมาเป็นผู้ดูแลรับสานต่อ ธีเล่าถึงจุดเชื่อมโยงที่ได้เข้ามาดูแลเรื่องการจัดเลี้ยงรักษ์โลก

ทีมงานพลังสำคัญ “เคี้ยวเขียว”

ก่อนจะบอกต่ออีกว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นการจัดเลี้ยงแบบรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของเกษตรอินทรีย์ แต่ยังมีเรื่องของการลดใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก โดยเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยอมรับว่า ยิ่งทำเขาก็ยิ่งรู้สึกสนุกกับภารกิจตรงนี้ โดยนับจากวันแรกถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่เขามีส่วนขับเคลื่อนในจุดนี้

ส่วนรูปแบบการจัดเลี้ยงนั้น เขาอธิบายว่า ค่อนข้างมีหลากหลาย แต่ละงานจะเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า แต่ทีมงานก็จะสอดแทรกวิธีรักษ์โลกลงไปในการทำงานด้วย เช่น พูดคุยกับลูกค้าชวนให้ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในแบบที่สามารถทำได้ อาทิ ลดใช้พลาสติก เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีจุดคัดแยกขยะในงานเลี้ยงไว้บริการ และล่าสุดที่พยายามผลักดันก็คือ แคมเปญจานแบ่งปัน เพราะการกินของแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนดเอง เช่น บางอย่างคนไม่กินก็จะทำให้เหลือเศษอาหาร ทางทีมงานก็จะนำเสนอว่า ก่อนจะกินให้คิดก่อนว่ากินหมดไหม หรือไม่กินอะไร ก็แบ่งออกมาไว้ก่อน เพราะอาหารที่ไม่กิน หรือเยอะจนทำให้กินเหลือนั้น สามารถนำไปแบ่งปันคนอื่นได้อีก เพื่อที่จะไม่กลายเป็นเศษอาหารที่ไร้ประโยชน์

โปสเตอร์แนะนำคัดแยกขยะ

ขณะที่อีกหนึ่งกิจกรรมที่เขาร่วมผลักดันก็คือ การจัดการขยะในงานเลี้ยง โดยธีบอกว่า จะพยายามสื่อสารออกไปในเรื่องของการแยกขยะ โดยจะมีการพูดคุยกับลูกค้าเรื่อง Waste Station ที่ทางเขาขอให้มีถังสำหรับคัดแยกเศษอาหารตั้งตามจุดไว้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงมาช่วยกันคัดแยกขยะ นอกจากนี้ก็ได้มีการเชื่อมโยงกับ “กลุ่มทำสวนผักดาดฟ้า” ที่จะมารับขยะอาหารจากงานเลี้ยงที่คัดแยกไว้แล้ว เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยปลูกผักสลัด แล้วก็ส่งผลผลิตมาให้ทางเคี้ยวเขียวนำมาประกอบอาหารอีกที เพื่อที่จะพยายามลดปัญหาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ในมุมมองของผม ปัจจุบันคนหันมาให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระแสของสังคมไทย ซึ่งหากหันไปมองเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม คนจะไม่ค่อยสนใจ แต่เดี๋ยวนี้คนสนใจมากขึ้น เพราะคนเริ่มตระหนักรู้ นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกในเวลานี้ ธีกล่าว

ก่อนจบการสนทนากับ ธี–ธีรพจน์” ผู้ดูแลขับเคลื่อน “เคี้ยวเขียว Green Catering” เขาบอก “ทีมวิถีชีวิต” ว่า ทุกวันนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว เพราะชีวิตมีความสุขแล้วกับการที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ทำแล้วมีความสุข แถมภารกิจที่ทำนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ที่มีผลดีต่อคนอื่น ๆ รวมถึงโลกใบนี้ด้วย โดยเขาทิ้งท้ายเรื่องของ “การรักษ์โลก” ว่า… การช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถเริ่มต้นได้จากตัวเรา โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แค่ลองก่อน หรือทำเท่าที่ทำไหวทำได้ ไม่จำเป็นต้องทำสุดโต่งจนกดดันตัวเองและคนรอบข้าง แต่ก็มีหลักสำคัญและมีหัวใจสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือ

จะต้องลงมือทำทันที“.

‘ดูแลโลก’ ทำได้ ‘ด้วยการกิน’

ธีธีรพจน์ เมฆเอี่ยมนภายังบอกถึงแรงบันดาลใจที่นำบริการจัดงานเลี้ยงมาใช้ยึดโยงกับเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมว่าอยากทำให้เป็นมากกว่าแค่การจัดเลี้ยง โดยอยากให้การกินของคนเราสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย จึงได้ทำให้ “เคี้ยวเขียว” เป็น “เครื่องมือในการส่งต่อแนวคิดเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในแบบที่แต่ละคนสามารถทำได้” ที่ถือเป็น ก้าวแรกที่สำคัญ ในการ ทำให้ผู้คนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกของเรา

’เวลาไปจัดเลี้ยงที่ไหน เราก็จะนำเอาแนวคิดนี้นำเสนอกับลูกค้าทุกครั้ง ซึ่งการรักษ์โลกไม่ได้มีแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มีหลาย ๆ วิธีการมาก เราแค่นำเสนอสิ่งที่ลูกค้าคิดว่าเขาน่าจะทำได้ น่าจะโอเคมากที่สุด เพื่อเปลี่ยนแนวคิดของหลาย ๆ คน ที่มักจะคิดไปก่อนว่า การดูแลโลก การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ยุ่งยาก ทำยาก“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : เรื่อง
ธนทัต จันทารักษ์ : ภาพ