จากข้อมูลผู้มาร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนกว่า 60% ที่มีความสนใจในเรื่องความยั่งยืน ถือเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาร่วมลงมือทำ เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ลองมาฟังเสียงสะท้อนผู้ที่มาร่วมงาน

ขนความรู้กลับไปบอกพ่อแม่

เริ่มจาก “ปณิตา ฝ่ายพลแสน” มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมัธยมแพรกษาวิเทศศึกษา เปิดเผยว่า โรงเรียนเปิดโอกาสให้มา ตอนแรกที่มาก็ยังไม่รู้ว่า เป็นอย่างไร แต่พอมาเข้างานจริง ได้ร่วมกิจกรรมโซนต่าง ๆ ภายในงานรู้สึกสนุกมาก มีทั้งกิจกรรมการดูแลสุขภาพ การสอนแยกขยะ ขายได้ด้วย เวลาขายขวดไม่ควรทิ้งเศษอาหารลงไปในขวด การกินอาหารที่ไม่ควรเหลือทิ้ง การใช้เสื้อผ้าอย่างคุ้มค่า วิธีการดูมิเตอร์น้ำในบ้านรั่วหรือไม่ จะได้ช่วยประหยัดน้ำ ระหว่างแปรงฟัน ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ สิ่งต่างๆ ที่ได้ความรู้ในการร่วมงานครั้งนี้ ตนเองจะกลับไปเล่าให้ครอบครัวฟัง เพื่อทำตาม ถือเป็นการช่วยประหยัดให้พ่อแม่ด้วย

ต่อยอดเรื่องจิตเวชไปใช้วิชาชีพ

ส่วน “พรพิมล สิริโชคชัย” นักศึกษาปี 2 สาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนสาขาจิตวิทยา รู้สึกเปิดโลกเกี่ยวกับความยั่งยืนมาก ตอนแรกคิดว่า ความยั่งยืนจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่พอมาร่วมงานนี้ได้รู้จักความยั่งยืนในมุมต่าง ๆ มากขึ้น ที่สนใจเป็นพิเศษ คือ บูธจัดแสดงให้ความรู้เรื่องจิตเวช มีกิจกรรมหลายอย่างให้ได้เรียนรู้ ได้เห็นเข้าใจการทำงานของโรงพยาบาล โครงการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว และคิดว่าน่าจะนำไปต่อยอดปรับใช้ได้ในอนาคต

“เรื่องของความยั่งยืนถ้ามองในสายอาชีพ ถ้าเศรษฐกิจธุรกิจเติบโตก็จะมีความต้องการบุคลากรมากขึ้น มีงานรองรับในอนาคตก็เป็นความยั่งยืนอย่างหนึ่ง อีกทั้งเปอร์เซ็นต์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีเพิ่มขึ้น การเข้ามาชมงานจะนำความรู้เหล่านี้ปรับใช้ในอาชีพของตัวเองได้ ส่วนบูธอื่น ๆ ก็น่าสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสอนรีไซเคิล นำฝาขวดพลาสติกมาทำเป็นพวงกุญแจ การคัดแยกขยะหรือฟาสต์แฟชั่นก็ได้เข้าไปดู รวมทั้งได้ร่วมทำกิจกรรม ได้รับกำไลที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ได้เห็นไอเดียสร้างสรรค์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า พวงกุญแจ ทั้งยังมีเรื่องการคัดแยกขยะ เป็นสิ่งที่จะนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ซึ่งเห็นไอเดียต่างๆ แล้ว จะนำกลับไปลงมือทำ และชวนคนในครอบครัวร่วมกันทำด้วย

แรงบันดาลใจใช้สโลว์ แฟชั่น

ด้าน “นันทนา บุนนาค” ผู้ให้คำปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ระบุว่า ในฐานะของที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ และสอนเรื่องการแต่งตัว ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงงานที่เราทำ สามารถต่อยอด การแต่งตัวให้ sustainable และไม่เดือดร้อนสังคม และช่วยโลกใบนี้ จากการไม่สร้างขยะจากเสื้อผ้าเพิ่มยิ่งขึ้น เป็นแรงบันดาลใจในการช่วยบอกต่อว่า การแต่งตัวแบบรักษ์โลกนั้น ควรเป็นอย่างไร อย่างง่าย ๆ ที่ทำได้เลย คือ การจัดการกับขยะเสื้อผ้า ที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง และการมิกซ์แอนด์แมตช์ เสื้อผ้าเก่าอย่างไร ให้นำมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสไตล์การแต่งตัวใหม่ ๆ ได้อย่างไร เป็นการช่วยลดปัญหาฟาสต์แฟชั่น มาร่วมแต่งตัวสไตล์สโลว์ แฟชั่น ใช้เสื้อผ้าให้คุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้าแต่ละชิ้น ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก เช่น ใยฝ้าย การปล่อยน้ำเสีย การใช้สารเคมี โรงงานปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้แรงงานต่าง ๆ

แนะทำแอปใส่ความรู้ใช้ยาว

ปิดท้ายที่ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหารบริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นอีกผู้บริหารที่สนใจเดินชมทั่วงาน โดยมองว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นประโยชน์ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น โซน better me จะให้ความรู้ในการดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือโซนที่เกี่ยวข้องกับอายุ ถือเป็นเอจจิ้งโซไซตี้ ในส่วน better living ส่วนนี้จะได้ประโยชน์ มีส่วนอย่างไรที่จะได้ช่วยลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จะนำแนวทางไปปรับใช้ในที่ทำงาน

ส่วน better community มีส่วนสำคัญมากในโลกยุคสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นถ้าเราได้ประสบการณ์ความรู้ในครั้งนี้ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนเข้ามาเยอะมากที่มาให้ความรู้ หรือแนวทางการทำงานที่จะเป็นตัวอย่าง เชื่อว่า จะนำมาปรับใช้ในการดูแลตนเอง รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมและแนวทางการทำงานของบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่ยูเอ็นอยากให้ประเทศทั่วโลกมีส่วนที่จะช่วยกันรณรงค์ ดูแลสภาพแวดล้อมในระยะยาวให้ยั่งยืนต่อไป

“ด้วยความที่งานจัดขึ้นปีละครั้ง อยากให้มีคอนเทนท์ที่ใช้เรื่องดิจิทัลเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มเข้ามาทำต่อเนื่อง ไหน ๆ ทาง SX2023 ทำแอปพลิเคชันไว้แล้ว สามารถรวมคอมมูนิตี้ของคนกลุ่มนี้ไว้ได้แล้ว อยากให้ความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ ผ่านทางแอปนี้ต่อเนื่อง ให้เป็นประโยชน์ระยะยาวจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงานนักเรียน นักศึกษา เป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เข้าไปดูต่อหลังจบงาน”.