ซึ่งมีผู้คนมากมายมาร่วมวงเสวนาในประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมกับสังคมและชุมชน 2.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน 3.การจัดการกากอุตสาหกรรม และ 4.การบริหารจัดการนํ้า โดยในส่วนของเวทีการมีส่วนร่วมของสังคม ทางผู้จัดงานได้มีการเชิญ 3 หนุ่ม 3 มุมแห่งวงการพัฒนาชุมชนยั่งยืนมาช่วยบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และกรณีศึกษา ในชื่อหัวข้อ “ร่วมมือกันพัฒนาชุมชนด้วยธรรมศาสตร์โมเดล” ซึ่งสำหรับทั้ง 3 กูรูที่ได้รับเชิญขึ้นเวที ประกอบด้วยอ.ธนินท์ ศิริวรรณ ที่ปรึกษาสังคมยั่งยืน จากนิคมฯ บลูเทคซิตี้, คุณสำราญ ทิพย์บรรพต ผู้ประสานงานสมาคมเพื่อนชุมชนจากพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง และสุดท้ายคือตัวของผมเอง สุกิจ อุทินทุ อดีตรองคณบดีวิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคอลัมนิสต์ประจำ Sustainable Daily ของเดลินิวส์

ทั้งนี้ บนเวทีเสวนานี้ ทาง อ.ธนินท์ ได้เล่าให้ฟังว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล” ได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยมีน้อง ๆ ธรรมศาสตร์ที่เรียนวิชา TU 100 วิชาพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม ร่วมกันลงพื้นที่ภาคตะวันออกพร้อมกับกลุ่มอาจารย์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน รวมถึงเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาความยากจนให้ชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการพัฒนาสินค้าชุมชน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ด้วยนวัตกรรม

ขณะที่ทาง คุณสำราญ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า ที่ชุมชนเกาะกกนั้นเป็นแปลงนาผืนสุดท้ายของพื้นที่มาบตาพุด โดยที่นี่ได้ทำตัวอย่างเรื่องของนวัตกรรมข้าว โดยเลือกใช้ข้าวสายพันธุ์ที่แตกต่าง ซึ่งขายได้ราคาสูง และได้ผลผลิตสูง พร้อมกับเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตด้วยการให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างบรรจุภัณฑ์ของตนเองขึ้นมา โดยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่าการขายข้าวเป็นกระสอบ และต่อมายังได้มีการพัฒนานวัตกรรมมาผลิตเป็น snack หรือของว่าง เพื่อวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตเดิมได้มากขึ้นเป็นหลายร้อยเท่า หลายพันเท่าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้น นอกจากนั้นยังเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวการลงพื้นที่ของน้อง ๆ ชาวธรรมศาสตร์ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้ฟังอีกว่า น้อง ๆ เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจถึงบริบทชุมชน โดยการเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อค้นหา demand กับ supply ซึ่งมีกระบวนการพัฒนา เริ่มต้นจากค้นหาสิ่งที่ชุมชนมี ค้นหาสิ่งที่ชุมชนเป็น แล้วใช้ทรัพยากรที่มีของชุมชน นำมาต่อยอดด้วยนวัตกรรมทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ในวิชา TU100 แทบไม่แตกต่างอะไรจากงาน CSR ที่พนักงานของโรงงานต่าง ๆ ทำกับชุมชนรอบ ๆ โรงงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของตัวผมนั้น ก็ได้เสริมอาจารย์ทั้งสองท่านว่า ธรรมศาสตร์โมเดลที่ยกตัวอย่างมา คือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “เข้าใจ…เข้าถึง…แล้วจึงพัฒนา” แต่ส่วนใหญ่ที่เห็น ๆ กัน เรามักจะทำกลับด้าน ด้วยการตั้งโครงการก่อนตามที่เรามโนไปเอง โดยไม่ลงไปสอบถามจากชุมชน พอขออนุมัติงบประมาณผ่านแล้ว จึงค่อยลงกันไปในพื้นที่หรือเข้าถึง จึงเข้าใจไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็หมดงบประมาณและเวลาไปมากแล้ว

ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาตามขั้นตอน และต้องเป็นการระเบิดจากข้างใน ด้วยการค่อย ๆ พัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น เพื่อเปลี่ยนจากอ่อนแอรอความสงเคราะห์ มาเป็นมีความเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ นอกจากนั้น คุณสำราญยังบอกอีกว่า นอกจากจะพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังต้องถอดบทเรียนเพื่อให้เกิดการขยายผล โดยตั้งใจให้ชุมชนที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติได้มาศึกษาดูงาน ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้ประโยชน์ทางอ้อมจากรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าของฝากอีกด้วย โดยทาง อ.ธนินท์ ได้ยํ้าทิ้งท้ายถึงโมเดลนี้ว่า นี่คือ “วงจรปลูก แปร ปรุง เปิบ ปล่อย ปุ๋ย” ตามแนวทางของ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”.