โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 องค์กรต่าง ๆ พยายามต่อสู้กับปัญหาความไม่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ปัญหาสังคม ความเหลื่อมลํ้า และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมากลายเป็น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG” ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้ทำงานกับสื่อในยุคต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปกันอย่างไร ในวันนี้ผมจะมาฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นกันว่าในแต่ละยุคนั้นเป็นเช่นไร…

ยุค 1.0 ’ยุคข่าวการกุศล“ เป็นยุคที่องค์กรต่าง ๆ ช่วยโลกด้วยการบริจาคและคืนกำไรให้แก่สังคม จึงเรียกว่ายุคแห่งการให้ ซึ่งการทำข่าวจะมีเพียงองค์กรใดบริจาคให้ใคร จำนวนเท่าไร ซึ่งมักเห็นภาพข่าวสังคมที่เป็นการยืนถ่ายภาพร่วมกันพร้อมกับถือเช็คใบใหญ่ แล้ว PR ก็จะนำไปเคลมจำนวนผู้อ่านโดยระบุเป็นผลงานทาง KPI ว่าเข้าถึงคนจำนวนเท่าใด คุ้มค่าลงสื่อหรือไม่

ยุค 2.0 ’ยุคข่าวโครงการ CSR“ เมื่อการบริจาคอย่างเดียวไม่เพียงพอ สังคมจึงคาดหวังว่าองค์กรต่าง ๆ ต้องทำโครงการต่อเนื่องแทนที่จะเปลี่ยนผู้บริจาคไปเรื่อย ๆ และโครงการจะต้องสอดคล้องกับความสามารถทางธุรกิจ กับเป็นสิ่งที่องค์กรมีความเชี่ยวชาญ หรือทำโครงการเพื่อลดผลกระทบทางลบที่องค์กรได้สร้างไว้ ทำให้หลายคนเรียกยุคนี้ว่ายุค CSR แต่นัก CSR จะเห็นว่าเป็นแค่งาน CSR After Process ซึ่งในยุคนั้นสื่อต่าง ๆ เริ่มเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ และวิทยุ โดยจะเรียกว่าพื้นที่ข่าว CSR ที่ในยุคนั้นสื่อใดที่ไม่มีพื้นที่ข่าว CSR จะถือว่าเชยและตกยุค

ยุค 3.0 ’ยุคข่าวยุทธศาสตร์ความยั่งยืน“ ในยุค 1.0-2.0 ส่วนใหญ่จะเป็นงานความยั่งยืนนอกขบวนการ พอถึงยุค 3.0 องค์กรต่าง ๆ ได้ถูกกดดันให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์สังคม และมีความยั่งยืนในขบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ไปจนถึงแผนปฏิบัติการ ทำให้ยุคนี้ข่าวความยั่งยืนจึงเปลี่ยนจากนักข่าวสังคม นักข่าวสิ่งแวดล้อม มาสู่นักข่าวเศรษฐกิจ แต่การทำข่าวนั้น ถ้านักข่าวไม่เข้าใจลึกซึ้งก็เขียนได้ยาก ทำให้ส่วนใหญ่จึงเขียนโดยปรับปรุงจากข่าวแจก หรือบางรายก็ตัดปะข่าวแจกที่ได้รับมา จึงส่งผลให้ผู้คนไม่ค่อยอ่านข่าวด้านนี้ และในยุคนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของสื่อ ที่เปลี่ยนแปลงจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับที่มีข่าวความยั่งยืนต้องปิดตัวลง ซึ่งระบบนิเวศใหม่ดังกล่าวนี้ได้ทำลายล้างสื่อที่มีข่าวความยั่งยืนให้ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก

ยุค 4.0 ’ยุคข่าวผลงานความยั่งยืนหลากมิติ“ ในขณะที่ยุค 3.0 จะเน้นความยั่งยืนในขบวนการธุรกิจ แต่พอมาถึงยุค 4.0 จะเป็นการรวบรวมทุกผลงาน ทุกมิติ ทั้งความยั่งยืนในขบวนการและนอกขบวนการ ตั้งแต่ยุค 1.0-3.0 และพัฒนาไปถึงผลงานที่สามารถตรวจวัดได้ รวมถึงมีรายงานและมีมาตรฐานต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยเริ่มที่จะเกิดการเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น และยุคนี้เองที่พื้นที่ข่าวความยั่งยืนกระจัดกระจายไปอยู่ตามหน้าข่าวสังคม ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวเศรษฐกิจ และข่าวอื่น ๆ จนมองไม่เห็น และไม่มีหน้าข่าวที่เกี่ยวกับความยั่งยืนโดยเฉพาะ จึงทำให้เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่ข่าวความยั่งยืนขึ้นใหม่อย่างช้า ๆ

ยุค 5.0 ’ยุคข่าวเป้าหมายความยั่งยืน SDG“ ในยุคที่โลกเข้าสู่วิกฤติ ทำให้ทุก ๆ องค์กรจะมีคำว่ายั่งยืนติดปาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้องค์กรต่าง ๆ อยากที่จะสื่อสารเรื่องนี้ และอยากใช้สื่อเพื่อขยายผลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่แทบจะหาสื่อใหญ่ ๆ ที่ทำเรื่องนี้จริงจังในประเทศไทยได้ยากมาก ทำให้เรามักจะต้องไปหาอ่านในแพลตฟอร์มของข่าวต่างประเทศ เพราะยุคนี้ข่าวแจกแทบไม่มีคนอ่าน และข่าวที่ไม่ลึก หรือข่าวที่พูดแต่เรื่องดี ๆ ขององค์กร ผู้อ่านก็มักจะคิดว่าเป็นพื้นที่โฆษณา เป็นการฟอกเขียว Green Wash อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อทาง UN ได้มีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในปี ค.ศ. 2016 ทำให้มีสื่อที่เป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อน 30 กว่าราย ที่ปัจจุบันได้ขยายเป็น 400 กว่ารายทั่วโลก ซึ่งเราเรียกสื่อกลุ่มนี้ว่า “Media Impact” ที่มาช่วยกันขับเคลื่อน SDG

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เดลินิวส์ได้เปิดตัว ’Sustainable Daily“ หน้า 4 และออนไลน์ เพื่อเป็นสื่อเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ’Media for Change“ที่ไม่ใช่แค่สื่อเพื่อทราบ แต่วิเคราะห์เจาะลึกในมิติต่าง ๆ ตลอดจนมีการรวบรวมกรณีศึกษาที่คล้ายกันในต่างประเทศ ที่ทำสำเร็จหรือแม้แต่ล้มเหลวนำมาถอดบทเรียน เพื่อชี้แนะแนวทาง กับเพื่อการเกาะติดสถานการณ์โลก และเชื่อมโยงท้องถิ่น รวมถึงเพื่อสร้างความร่วมมือขององค์กรในภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เนื่องจากทางเดลินิวส์เล็งเห็นว่า ในยุค 5.0 นี้ การแจกข่าว และการซื้อพื้นที่ข่าวยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทันเวลาได้ ทำให้ “ทีมงาน Sustainable Daily” จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างความร่วมมือในการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็น “Media Partner for SDG” โดยถ้าหากองค์กรใดสนใจอยากรู้เรื่อง “Media for Change” มากกว่านี้ หรือสนใจร่วมกันวางแผนเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนร่วมกัน สามารถติดต่อหรือส่งข้อมูลมาได้ที่ [email protected]

CSR Man