นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามนโยบายเรื่อง แนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางบางซื่อ – หัวลำโพง ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย ส่งผลให้สถานีหัวลำโพง ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ลดบทบาทลง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว มีความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ในอนาคต) ดังนั้นจึงควรนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ มีดังนี้ 1.สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แม้ในอดีตที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง แต่การศึกษายังไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน รฟท. จึงได้ดำเนินการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การใช้พื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะมีการนำกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วย ทั้งนี้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะเข้าร่วมการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือน พ.ย.64
และ 2.พื้นที่ริมทางรถไฟ ช่วงสถานีกลางบางซื่อ – สถานีหัวลำโพง ทาง รฟท. เตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ให้มีความชัดเจนเมื่อได้มีการสำรวจรายละเอียดตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เช่น สายสีแดงส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การเชื่อมต่อสถานีจิตรลดา เป็นต้น คาดว่าจะสามารถนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ได้ในเดือน ธ.ค.64 ส่วนการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ(ด่วน) บริเวณเพลินจิต การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้หารือกับ รฟท. เพื่อกำหนดแนวทางการในการบูรณาการให้มีการพัฒนาพื้นที่ที่ต่อเนื่องกัน โดยการปรับให้รูปแบบโครงการให้มีลักษณะที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน คาดว่าจะได้ผลสรุปร่วมกันในเดือน ต.ค.65
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้สั่งการให้กำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจนโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งรัดแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 68 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ให้พิจารณานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้เน้นการพัฒนาพื้นที่แนวดิ่ง รวมทั้งให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีต่างๆ ด้วย โดยกรณีที่เป็นพื้นที่ของภาคเอกชนหรือส่วนราชการอื่น ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสถานีหัวลำโพง ให้พิจารณาเปรียบเทียบจนถึงข้อสรุปถึงรูปแบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และ รฟท. เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งแปลง หรือการแบ่งการพัฒนาเป็นแปลงย่อย เป็นต้น สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนเพลินจิต ให้ กทพ. พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน แทนการให้เช่าพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ กทพ. มีรายได้มากขึ้น รวมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว.