เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนระหว่าง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้การปรับเพิ่มการใช้อัตราความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคล 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ในช่องจราจรขวาสุดระยะที่ 1 บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเซีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอินถึงทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทาง 45.9 กม. เป็นเส้นทางแรก เมื่อวันที่ 1 เม.ย.64 พบว่า
ประสบความสำเร็จเพราะพื้นที่ที่ดำเนินการโครงการอุบัติเหตุลดลงประมาณ 15% เช่น กรณีรถพลิกคว่ำ และรถข้ามเลน โดยปริมาณจราจรช่วงที่โควิด-19 ระบาดมีผู้ใช้ถนนเหลือ 60% จาก 100% รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ใช้เส้นทางเป็นไปตามแต่ละช่องจราจรที่กฎหมายกำหนด จากนั้นได้ขยายผลมาใช้ในระยะที่ 2 มี 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 128.233 กม. เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 วัน อยู่ระหว่างการประเมินคาดว่าไม่ผิดไปจากสมมุติฐานที่ตั้งไว้ และจะประสบความสำเร็จเหมือนระยะที่ 1
ส่วนการลงนามครั้งนี้ เพื่อขยายผลมาใช้ดำเนินการในระยะที่ 3 อีกจำนวน 8 เส้นทางบนถนน ของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 152.072 กม. โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) จำนวน 503 ล้านบาท ดังนี้ เส้นทางของ ทล. 6 เส้นทางระยะทางรวม 87.972 กม. ได้แก่ 1.ทล.1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค กม.79+000-105+000 ระยะทางรวมประมาณ 26 กม. 2.ทล.9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กม.23+000-31+872 ระยะทาง 8.872 กม. 3.ทล.347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย กม.1+000-10+000 ระยะทาง 10 กม.
4.ทล.35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000-80+600 ระยะทาง 24.600 กม. 5.ทล.4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.160+000-167+000 ระยะทาง 7 กม. และ 6.ทล.4 ช่วงเขาวัง-สระพระ กม.172+000-183+500 ระยะทาง 11.500 กม. และเส้นทางของกรมทางหลวงขนบท 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 64.1 กม. ได้แก่ 1.นบ.3021 (ถนนราชพฤกษ์) ตลอดเส้นทาง ระยะทาง 51.700 กม. และ เส้นทางที่ 2 นบ.1020 (ถนนนครอินทร์) ตลอดเส้นทาง ระยะทาง 12.400 กม.
โดยถนนทั้ง 8 เส้นทาง ทล. และ ทช. จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย อุปกรณ์ที่ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ปรับปรุงเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ติดตั้งป้ายจราจร ป้ายเตือน ป้ายจำกัดความเร็ว ก่อสร้างกำแพงคอนกรีต (Barrier) และแถบชะลอความเร็ว (Rumble Strip) ตลอดจนติดตั้งระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System) และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้สามารถบริหารจัดการการจราจร และสามารถควบคุม กำกับ ดูแลการใช้ความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแนะนำผู้ใช้ทางให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าเริ่มใช้ได้ มี.ค.65
สำหรับในปี 65 กระทรวงได้ของบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ แต่ไม่รับการพิจารณา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นภาครัฐจึงต้องนำมาใช้ในการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาโควิดเป็นหลัก เชื่อว่าในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม เนื่องจากขณะนี้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดซื้อวัคซีนปลายปีนี้ให้ได้ 120 ล้านโด๊ส เพื่อให้คนไทยที่มีกว่า 70 ล้านคนได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมทั้งหมด ประกอบกับคาดว่าสถานการณ์ในโลกจะดีขึ้นเช่นเดียวกันทำให้ช่วยเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกลับฟื้นตัวอีกครั้ง
นอกจากนี้กระทรวงมีแผนในดำเนินการเรื่องความปลอดภัยให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะดำเนินการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ควบคู่กับการปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กำแพงคอนกรีต (แบริเออร์) หุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) บนถนนของ ทล. และ ทช. ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เป็นเกาะสีและยังไม่มีเกาะกลางถนน ประมาณ 12,000 กม.
โดยในงบประมาณปี 66 จะขอรับงบดำเนินงาน 2,550 กม. ก่อน ส่วนที่เหลือจะทยอยขอรับงบในแต่ละปีต่อไป ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการ 2,550 กม. ต่อปี หรือคิดเป็น 25% ซึ่งใช้เวลา 4 ปีแล้วเสร็จทั้งหมด การดำเนินการนี้จะต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดและทุกภูมิภาค ส่วนการขอรับงบสนับสนุนจาก กปถ. นั้นตั้งไว้ 800 ล้านบาท แต่นำมาใช้แล้ว 503 ล้านบาท ขณะนี้เงินใน กปถ. มีประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในอนาคตถ้าจัดซื้อจัดจ้างแล้วเหลือจ่ายจะนำมาดำเนินการเรื่องนี้ด้วย
ส่วนการสนับสนุนการใช้ยางพารามาที่จะมาทำเป็นแผ่นยางหุ้มแบริเออร์คอนกรีต และเสาหลักนำทางนั้น จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดแผนดำเนินการให้ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้สั่งให้ ทล. และ ทช. ในการดำเนินการดังกล่าวตามแนวเส้นทางถนนที่มี 4 ช่องจราจร เป็นเกาะสี ประชาชนจะข้ามถนนตรงไหนก็ได้ แต่เมื่อมีการติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตแล้วนั้น จะทำให้ประชาชนไม่สะดวก จึงให้พิจารณาสร้างสะพานลอยข้ามถนน ในรูปแบบที่สามารถใช้ได้ทั้งคนเดินเท้า รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ส่วนบริเวณที่เป็นจุดกลับรถจำเป็นต้องมีทุก 10 กม. ขึ้นกับกายภาพถนนด้วย เพราะการสร้างจุดกลับรถขนาดใหญ่ต้องทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย ซึ่งการดำเนินการอาจจะต่างจากในอดีตที่การสร้างจุดกลับรถ หาก ทล.ประเมินความเหมาะสมแล้วสามารถกระทำได้เลย โดยไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อสอดรับกับผู้ใช้ทางมากที่สุด และลดผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว