เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่กระทรวงสารณสุข นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งโลกมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมาก ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้ว 96 ประเทศ ส่วนประเทศไทย 2 เดือนที่แล้ว 85-90% ของเชื้อที่ตรวจพบคือสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พอ มิ.ย. – ก.ค. ทั้งประเทศเป็นเชื้อเดลตา 30% ถือว่าเร็วมาก เฉพาะ กทม.และปริมณฑลเป็นเดลตา 50% ความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันุ์อัลฟา (อังกฤษ) 40% คาดว่า 1-2 เดือน ทั้งไทยและโลกจะเป็นเดลตาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด  

“เชื้อตัวนี้ภาพรวมไม่ได้มีความรุนแรงมากกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น อย่างอัลฟาใช้เวลา 7-10 วัน ถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลตาใช้เวลา 3-5 วัน ดังนั้น คนติดเชื้อมาก เปอร์เซ็นต์ปอดอักเสบจึงมาก ต้องการเตียงผู้ป่วยหนักไอซียูเพิ่มขึ้น ตอนนี้ตึงมากเรื่องเตียง โดยเฉพาะสีแดง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้” นพ.อุดมกล่าว

เมื่อถามว่าตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่  นพ.อุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด ตอนนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์กว่าจะเห็นผล 14 วันตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะประเมินวันที่ 11-12 ก.ค.และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ

เมื่อถามว่ามาตรการที่ใช้อยู่พอเพียงหรือไม่ ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นพ.อุดม กล่าวว่า ถ้าเรามาดูตอนนี้ยังบอกไม่ได้  แต่จะประเมินในช่วง 15 วัน และ 30 วัน เชื่อว่าการติดเชื้ออาจจะลงบ้าง แต่อาจยังอยู่ในระดับ 3-4 พันก็ยังเกินที่จะรับไหว สิ่งสำคัญคือต้องลดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้ ต้องไปกับคน คนพาไป ถึงไม่อยากให้เคลื่อนย้าย ให้อยู่กับบ้าน ต้อง Work From Home 75% ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ถึง 50% เลย ต้องไม่ไปตลาด ศูนย์การค้า แต่คนยังไปกันเยอะมาก ยังออกต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่นำเชื้อไปแพร่คนอื่น ถ้ายังทำไม่ได้ คิดว่าต้องยกระดับมาตรการต้องล็อกดาวน์เหมือน เม.ย. 2563 ที่ระบาดไม่กี่ร้อยคนทำแล้วคุมอยู่

“ก็เป็นคนที่ดูรอบด้าน เรื่องเศรษฐกิจเราก็รู้ ว่าตอนนี้คนอดตายจริงๆ แต่เงินหาใหม่ได้ ชีวิตคนหาใหม่ไม่ได้ ลองคิดดูว่า 50-60 คน ที่เสียชีวิตทุกวันและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมรับไม่ได้นะเพราะคนหนึ่งเราก็ไม่อยากให้ตาย เราต้องปกป้องคนไม่ให้ตายก่อน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด และคิดว่ายอมเจ็บให้สั้นๆ แล้วจบ ตนพูดในที่ประชุมว่าถ้าเราไม่ยอมเจ็บ แต่โรคระบาดยังอยู่ถามว่าแล้วเศรษฐกิจเดินได้หรือไม่ ก็เดินไม่ได้ ไม่มีทางเดินได้อยู่ดี คนยังป่วยมหาศาล กำลังบุคลากรสาธารณสุขไม่เพียงพอ เตียงก็ไม่เพียงพอรับ แล้วมีคนตายวันละ 50-60 คนทุกวัน จะขึ้นไปเป็นวันละ 100 คน เจ็บด้วย จนด้วย ตายด้วย ผมเลือกอันแรกให้มันเจ็บสั้นๆ แล้วให้จบ” นพ.อุดม กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้ยังมีประชาชนต่อต้าน และนักรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเรียกร้องด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมทางการเมือง  นพ.อุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่คิดว่าเขาน่าจะไปศึกษา ไปพิจารณาให้ดีว่าข่าวที่ออกไปนั้นมีทั้งข่าวไม่ครบ มีทั้งบวก และลบมากมาย เพราะฉะนั้นคิดว่าเราต้องมองภาพรวมของประเทศ ยิ่งตอนนี้ยิ่งระบาดเยอะเป็นหลักทางระบาดวิทยาอยู่แล้วที่เราต้องงดรวมกลุ่ม.