เคาะแนวเส้นทางแล้วสำหรับงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางพิเศษ(ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 2 ส่วนทดแทน (ตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ซึ่งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 2ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบอุโมงค์ใต้ดินตลอดระยะทาง 6.7กม. และได้รับการจัดอันดับเป็นอุโมงค์ทางด่วนสายแรกของประเทศไทยและในอาเซียน

โครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางด่วนศรีรัชตัดถนนงามวงศ์วาน ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ(ถนนเกษตร-นวมินทร์) จากนั้นจะเป็นทางระดับดินและยกระดับเชื่อมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) ซึ่งมีแนวตอม่อทางด่วนจ่อรออยู่แล้ว

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บอกว่า โครงการนี้มีความท้าทายมากเพราะเป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของประเทศไทยและในอาเซียน ขณะที่ในเอเชียประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างก่อสร้าง ในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังห่วงกังวล 3ประเด็นได้แก่ 1.ระบบความปลอดภัยในอุโมงค์ 2.การเยียวยาระหว่างการก่อสร้าง และ 3.ปัญหาการจราจร

ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอบคุณทุกคนที่ตั้งประเด็นต่างๆ กทพ.จะนำไปพิจารณา และทำทุกวิถีทางในทุกราคา และทุกต้นทุนที่มี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าข้อห่วงใยต่างๆ ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง และปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยยังจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนกันอีก คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 จากนั้นจะเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประมาณปี2568 คาดว่าเปิดประมูลปี 2569 เริ่มก่อสร้างปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จและเปิดบริการประมาณปี 2575

ลงรายละเอียดอุโมงค์ทางด่วนสายแรก N1 มี 4 ช่องจราจร สร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน 2 ชั้นๆ ละ 2 ช่องจราจร เส้นทางจากด่วนศรีรัชมุ่งหน้าถนนนวมินทร์จะอยู่ชั้นบน ส่วนเส้นทางจากถนนนวมินทร์ไปทางด่วนศรีรัช จะอยู่ชั้นล่างอุโมงค์มีความกว้างประมาณ 16 เมตร และลึกประมาณ 40 เมตร

ช่วงผ่านแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)อุโมงค์ทางด่วนจะสร้างอยู่เหลื่อมๆกับอุโมงค์แยกม.เกษตรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ซ้อนกัน การก่อสร้างอุโมงค์จะลดผลกระทบและความกังวลของม.เกษตร ความกว้าง 16 เมตรใหญ่กว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน จุดที่ลึกที่สุดประมาณ 44 เมตรจากผิวดิน ใกล้เคียงกับความลึกของอุโมงค์รถไฟฟ้าสีน้ำเงินช่วงลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา

นายประเทือง อินคุ้ม วิศวกรเชี่ยวชาญด้านอุโมงค์ อธิบายถึงมาตรการความปลอดภัยไว้ว่า อุโมงค์ทางด่วน N1 ให้บริการเฉพาะรถยนต์4 ล้อ ไม่อนุญาตให้รถบรรทุกใช้งาน การทำอุโมงค์ทางด่วนได้ศึกษา และเปรียบเทียบของต่างประเทศ อาทิ ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย ภายในอุโมงค์มีระบบระบายอากาศ, ไฟฟ้าแสงสว่าง, ระบบหนีไฟ, ระบบป้องกันน้ำท่วม และมีปล่องระบายอากาศ 4 ช่วง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอพยพคนได้ทันที มีจุดให้ออกผนังด้านข้างจัดไว้เป็นเซฟตี้โซนทุก 250 เมตร มีบันไดและลิฟต์อพยพคน

ปัจจุบันทั่วโลกมีอุโมงค์รถยนต์ 395อุโมงค์ ระยะทาง 5-30กม. N1เป็นอุโมงค์กลุ่มเล็กๆของอุโมงค์ทั่วโลก ระยะทาง 6-7กม. ความลึกเทียบได้กับตึก 15ชั้น มีทางเข้าออกแค่ตรงหัวและท้ายอุโมงค์ ติดตั้งเราเตอร์ (Router) และเดินไฟเบอร์ออฟติกในอุโมงค์ เพื่อให้ใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติ แม้จำกัดให้เฉพาะรถยนต์ใช้อุโมงค์ N1แต่ได้ออกแบบความสูงไว้ที่ 4.50เมตร เพื่อให้รถดับเพลิงหรือรถฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินได้

อุโมงค์ทางด่วนN1มีมูลค่าลงทุนประมาณ 36,000ล้านบาท ค่าก่อสร้างสูงกว่าทางด่วนแบบยกระดับประมาณ 5เท่า มาทดแทนรูปแบบเดิมที่เป็นทางยกระดับเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากม.เกษตรฯ

ฟังสุ้มเสียงจากประชาชนที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่แสดงความกังวลและห่วงใยเรื่องผลกระทบจากการก่อสร้าง การป้องกันน้ำท่วม การขนย้ายดินระหว่างก่อสร้าง ผลกระทบการจราจร การเวนคืนที่ดิน ความปลอดภัยในการใช้งานอุโมงค์ รวมทั้งคุณภาพอากาศที่ระบายออกมาจากอุโมงค์ และต้องการให้มีทางเข้าออกอุโมงค์ระหว่างทาง

ขณะที่ภาพรวมสังคมนอกจากแสดงความกังวลแล้ว ยังส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วน โดยมองว่าใช้งบประมาณสูงเกินไป น่าจะนำไปใช้พัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชนด้านอื่นๆมากกว่านำมาใช้แก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบให้ม.เกษตรฯ .

สำหรับโครงการตอน N2 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ) ระยะทาง 11.3 กม. ซึ่งมีจุดเริ่มต้นบริเวณเลยแยกเกษตรฯไปนั้น มีวงเงินลงทุนประมาณ 16,960 ล้านบาทเป็นทางด่วนที่สร้างเสาตอม่อเตรียมไว้มานานถึง 25 ปี บริเวณกึ่งกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ประมาณ 281 ต้น กทพ.ได้เสนอโครงการไปกระทรวงคมนาคมแล้วเตรียมเสนอครม.พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาประมาณปลายปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดบริการประมาณปี 2570

นอกจากทางด่วนแล้ว เส้นทางนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม.ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้เห็นชอบผลการศึกษาออกแบบ เอกสารประกวดราคา และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) สู่ขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.เพื่ออนุมัติโครงการฯ ประมาณเดือน ก.พ.2567

รฟม.วางไทม์ไลน์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน PPP ช่วงประมาณเดือน ก.ย.2567-ก.ย.2568 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน ต.ค.2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดบริการได้ประมาณเดือน ต.ค.2571

รูปแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล) สายที่ 3 นับต่อจากสายสีเหลือง&ชมพู 2 สายแรกของประเทศไทย โครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มี 20 สถานี วงเงินลงทุน 49,865 ล้านบาท จุดเริ่มต้นเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งตามแนวถนนงามงศ์วาน (มีอุโมงค์ทางด่วนอยู่ใต้ดิน) จนถึงแยกบางเขนเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วลอดใต้รถไฟฟ้าสายสีแดงและทางยกระดับอุตราภิมุข ข้ามถนนวิภาวดีรังสิตจนถึงแยกเกษตร ยกระดับข้ามรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน สถานีปลายทางเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้

รถไฟฟ้าสีน้ำตาลเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลากสี 7สายด้วยสถานีต่างๆ ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมสายสีเหลืองและสีส้ม

อีกข้อกังวลเรื่องผลกระทบการจราจรระหว่างก่อสร้างบนถนนประเสริฐมนูญกิจซึ่งจะหนักหนาสาหัสเพราะเป็นจุดทับซ้อนต้องใช้พื้นที่ร่วมกับทางด่วน N2 นั้น แนวเสาตอม่อรถไฟฟ้าจะแทรกระหว่างเสาตอม่อทางด่วนโดยมีโครงสร้างอยู่ใต้ทางด่วน เบื้องต้น กทพ. จะก่อสร้างด่วน N2 ช่วงเดือน ต.ค.2567-ก.ย.2570 ขณะที่ รฟม. จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาลเดือน ต.ค.2568-ก.ย.2571 ทั้ง 2 หน่วยงานจะวางแผนงานก่อสร้างร่วมกันเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ส่วนข้อสังสัยไม่ใช้ตอม่อเดียวกัน เนื่องจากตอม่อทางด่วนไม่ได้ออกแบบเพื่อรับน้ำหนักรถไฟฟ้าไว้

ถ้าเดินหน้าได้ตามแผนงานที่วางไว้ นอกจากมิติใหม่ของการเดินทางด้วยอุโมงค์ทางด่วนสายแรกแล้ว จะมีรถไฟฟ้าและทางด่วนเคียงคู่กันสายแรกเชื่อมโยงกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

—————————–
…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…