เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติรับรอง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ประเทศไทย ทำให้ เดียร์ วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เดียร์ วทันยา บุนนาค ระบุว่า 17 ปีที่ผ่านมา เราเลือกตั้ง 6 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง การชุมนุมอีกนับครั้งไม่ถ้วน สุดท้ายคนไทยเราได้อะไรกลับมาบ้าง? นักเลือกตั้ง (ไม่ขอใช้คำว่านักการเมือง) ตัวละครที่คุ้นหน้าคุ้นตาเดิมๆ กลับมาสู่อำนาจ ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมาจากฟากฝั่งไหนก็ตามการทุจริตคอร์รัปชั่น เงินจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ซ้ำเติมด้วย สส.งูเห่า ที่คำว่าการแจกกล้วยในสภา กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างโจ๋งครึ่ม ไม่รู้สึกเป็นเรื่องน่าอับอายเหมือนในอดีต
การโหวตมติสำคัญแต่ละครั้งที่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ สส. ถือเอกสิทธิ์ในการคงเจตนารมณ์ของประชาชน กลายเป็นของมีมูลค่าที่ไม่มีคำว่าฟรีอีกต่อไป แต่ต้องแลกด้วยผลประโยชน์นโยบายหาเสียงที่แข่งกันลดแลกแจกแถมเพื่อหวังเอาใจโหวตเตอร์ แต่นโยบายที่จะนำพาประเทศไปทางไหน หาเงินเข้าประเทศอย่างไรกลับแทบไม่มีให้เห็น
วังวนความขัดแย้ง ที่เปลี่ยนจากขั้วการเมือง มาเป็นความขัดแย้งระหว่างวัย ของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ จากกลุ่มที่ผูกขาดความรักชาติ หรือเพราะรักผลประโยชน์ของตัวเองก็ไม่อาจแน่ใจได้
เดียร์ เชื่อว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยวันนี้ อาจเป็นความหวังของใครหลายคน แต่ก็เชื่อว่าคนไทยอีกหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างจากสิ่งที่เดียร์กำลังรู้สึกนั่นคือ “ไร้ความหวัง” เพราะสุดท้ายแล้ว ในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็ยังคงต้องทำงานโดยพึ่งตัวเองเหมือนเดิม ในขณะที่ประเทศไทยก็ยังไม่ก้าวออกจาก ความเป็น “คณาธิปไตย” ที่อำนาจเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม (ซึ่งส่วนใหญ่ก็หน้าเดิมๆ แทบไม่เปลี่ยน) กลายเป็นสมบัติผลัดกันชม เพื่อใช้เจรจาต่อรอง แบ่งผลประโยชน์กันให้ลงตัวการเลือกตั้งที่เป็นเหมือนความหวัง แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าผ่านมา 17 ปี ประเทศไทยเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น 6 ครั้ง แต่สุดท้ายกลับไม่ก้าวไปไหน ทุกอย่างวนกลับมาเหมือนเดิมเหมือนเช่นที่ในหนังสือ “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ว่าไว้จริงๆ.