นอกจาก 4 ยุทธศาสตร์ ที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนส.ค.66 คือ 1.พักหนี้เกษตรกร 3 ปี พักหนี้เอสเอ็มอี 1 ปี 2.ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน 3.คณะรัฐมนตรีนัดแรกไฟเขียวให้ทำ “ประชามติ” เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมกันใหม่ และ 4.แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาททุกคน ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป

เพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี

นอกจากนั้นยังซุ่มเปิดนโยบายทางด้านการเกษตร “เพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี” วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายชัย (หมอชัย) วัชรงค์ นักวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ในฐานะคณะกรรมการทางด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าเมื่อ 2 วันก่อน มีโอกาสไปพูดคุยเรื่องนโยบายหลักด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทย “เพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี” ให้กับบรรดาสส.ของพรรค ได้ทำความเข้าใจกัน

ทั้งนี้เพื่อสามารถนำไปอภิปรายต่อในสภา หรือนำไปอธิบายให้ฐานเสียงในพื้นที่ได้มองเห็นว่า พรรคเพื่อไทยกำลังจะนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่วงการเกษตร ด้วยการเปลี่ยนโฉมหน้าภาคการเกษตรของไทย จากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรก้าวหน้าแม่นยำ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม และเพิ่มรายได้ ได้อย่างไร?

สำหรับนโยบายเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี นั้น ปัจจุบัน “จีดีพี” ภาคการเกษตรคือ 1.4 ล้านล้านบาท (8%) แต่เป้าหมายคือ 4.2 ล้านล้านบาท (25%) โดยจีดีพี 1.4 ล้านล้านบาท มาจากพื้นที่ทำการเกษตรรวมทั้งประเทศ 140-150 ล้านไร่ แต่กลับมีจีดีพีเฉลี่ยเพียง 1 หมื่นบาท/ไร่/ปี ขณะที่ญี่ปุ่น และไต้หวัน 8-9 หมื่นบาท/ไร่/ปี

ยกตัวอย่างพื้นที่เกษตรกว่า 40% (60-70 ล้านไร่) ถูกใช้เพื่อการปลูกข้าว โดยปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,200-1,500 ลบ.ม. ทำรายได้ไม่เกิน 6,000 บาท/ไร่ กำไรสุทธิไม่เกิน 1,500 บาท/ไร่ เปรียบเทียบการใช้น้ำกับผลตอบแทนต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวโพดใช้น้ำ 800 ลบ.ม./ไร่ แต่ทำรายได้ 17,000 บาท/ไร่ ถั่วเหลืองใช้น้ำ 350 ลบ.ม./ไร่ แต่สร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่ หญ้าเลี้ยงสัตว์ใช้น้ำ 500 ลบ.ม./ไร่ ทำรายได้ 12,000-55,000 บาท/ไร่ และทุเรียนใช้น้ำ 650 ลบ.ม./ไร่ ทำรายได้ 250,000 บาท/ไร่ โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าข้าวโพดปีละ 3 ล้านตัน และนำเข้าถั่วเหลือง ปีละ 4.5 ล้านตัน

ข้อจำกัดภาคการผลิต

แต่ข้อจำกัดภาคการผลิตในปัจจุบัน คือ 1.พื้นที่ชลประทานมีเพียง 35 ล้านไร่ (25%) 2.เกษตรส่วนใหญ่ไม่ทราบค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน 3.เกษตรกรไทยเป็นรายเล็ก-รายย่อย มากกว่า 95% 4.เกษตรกรไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย อายุมากกว่า 50 ปี 5.เกษตรกรไทยมีการใช้เทคโนโลยีค่อยข้างน้อย และ 6.เกษตรกรไทยเข้าไม่ถึงเงินทุน

นอกจากนี้ ผลผลิตสินค้าเกษตรต่อไร่ แทบไม่เพิ่มขึ้นเลยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

ขณะที่บทบาทภาครัฐ กฎระเบียบทางราชการเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ตั้งแต่ขัดขวางประสิทธิภาพการผลิต,สร้างความยุ่งยากสิ้นเปลืองซ้ำซ้อนในการทำธุรกิจเกษตร เช่น ความล่าช้าในการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ปัจจัยการผลิตใหม่ๆ และอุปสรรคในการแก้ไขวิกฤติโรคระบาดในวงการปศุสัตว์

นายชัยกล่าวต่อไปว่า เกษตรกรไทยต้องจับมือกับ The Winners แม้สถานการณ์ภาคการเกษตรส่วนใหญ่จะไม่สู้ดีนัก แต่ยังมีธุรกิจเกษตรก้าวหน้าแม่นยำที่ประสบความสำเร็จ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เบทาโกร คาร์กิลล์ ซันแวลเล่ย์ มิตรผล และ เอี่ยมบูรพา

โดยปี 65 กระทรวงเกษตรฯใช้งบประมาณ 110,902+150,000 ล้านบาท แต่จีดีพีภาคการเกษตรโตเพียง 0.7%

ในอดีตใส่เงินงบประมาณเข้าไปเพื่ออุดหนุนเยียวยา โดยไม่แตะปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ผลลัพธ์พิสูจน์แล้วคือล้มเหลวมาตลอด ฉะนั้นจากนี้ไป งบประมาณที่ใช้ไปต้องเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างภาคการเกษตร จากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรก้าวหน้าแม่นยำ ด้วยกลยุทธ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เม็ดเงินทุกบาทต้องใช้ไปเพื่อสร้างดุลยภาพใหม่ภาคการเกษตร เน้นประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด

กลยุทธ์เพื่อความสำเร็จด้วยนโยบายสำคัญ 7 ข้อ

โดยมีกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จด้วยนโยบายสำคัญ 7 ข้อ ดังนี้ 1.เพิ่มน้ำเพื่อการผลิต น้ำฝนต่อปีราว 750,000 ล้านลบ.ม. กักเก็บบนดินได้ราว 70,000 ล้านลบ.ม./ กักเก็บไว้ใต้ดินได้ราว 110,000 ล้านลบ.ม.เท่านั้น

พื้นที่ชลประทานมีเพียง 35 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศเกือบ 150 ล้านไร่ จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 15 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี และภายใน 8 ปี พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศจะต้องมีน้ำใช้ตลอดปี

2.สำรวจและปรับสภาพดินในพื้นที่การารเกษตรทั่วประเทศ จัดทำพิมพ์เขียวสภาพดินในพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ ปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสมกับการผลิตที่สุด-pH 6.0-6.5

3.ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่เพาะปลูก เน้นพืชที่ใช้น้ำน้อย และให้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิม

4.ปรับกลยุทธ์เชิงธุรกิจ จากเกษตรกรรายย่อย สูงวัย ใช้เทคโนโลยีน้อย ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ไปสู่เกษตรก้าวหน้าแม่นยำด้วยการจับมือกับ The Winners ในรูปแบบหุ้นส่วนที่เป็นธรรมและยั่งยืน

5.เพิ่มทุนให้ถึงมือเกษตรกร แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ออกโฉนดให้ที่ดินที่มีศักยภาพแต่ติดเงื่อนไขความเป็น ส.ค.1 หรือ ส.ป.ก. หรือป่าเสื่อมโทรม ราว 50 ล้าน ไร่ทั่วประเทศ มูลค่าที่ดิน 50 ล้านไร่ที่ได้รับการออกโฉนด เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ล้านล้านบาท = สูบฉีดเงินทุนก้อนมหึมา เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

6.ยกเลิกและแก้ไขกฎระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรค กฎระเบียบต้องมีไว้เพื่ออำนวยการให้ผลประกอบการดีขึ้น มิใช่เพื่อควบคุมและจำกัด Facilitate not Regulate

7.กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้ผู้บริหารกระทรวงฯ ระดับอธิบดีถึงปลัดฯ ต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนและยกระดับผลผลิตภาค การเกษตรในรูปการเติบโตของจีดีพีที่ชัดเจน ด้วยเป้าหมายเพิ่มจีดีพีภาคการเกษตรปีละ 5% 10% 20% 30% ตามลำดับ

“การเปลี่ยนนาข้าว 10 ล้านไร่ ไปผลิตสินค้าเกษตรตัวอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการ Approach เพื่อการเปลี่ยนผ่านการผลิตด้วยการใช้หลักการตลาดนำ โดย Integrated เข้ากับปัญหาข้อจำกัดเรื่องน้ำและการจับ Matching เกษตรพันธสัญญาด้วยเงื่อนไขที่ Fare Deal รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงทั้ง 100% ของการเปลี่ยนผ่าน แต่จะทำโครงการนำร่องเพียง 5-10% เพื่อทำให้เกิด Success Stories จากนั้นจะก่อให้เกิด Momentum เหวี่ยงให้ภาคการเกษตรของไทยปรับตัวเปลี่ยนผ่าน (trigger around) ไปในทิศทางที่รัฐบาลได้นำร่องให้เห็น” นายชัย กล่าว