แต่การเยือนหลวงพระบางครานี้ทุกคนในคณะต่างก็ดูจะมีจิตหรรษา โดยเฉพาะเมื่อได้มีโอกาส “เสริมมงคล” ด้วยการ “กราบสักการะ 3 พระพุทธรูปสำคัญแห่งหลวงพระบาง” และยังได้ “กราบสักการะ 2 พระพุทธรูป ณ วิหารพุทธสิริราชสัตตราชนาคินทร์ไซยะบุรี” ที่แขวงไซยะบุรี ด้วย…

โอกาสเสริมมงคลที่นำมาเล่าสู่ในวันนี้เกิดจากการที่ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานสะอาดสัญชาติไทย เชิญชวนชาว “เดลินิวส์” ไปเยี่ยมชม “โรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี” ที่ดำเนินงานโดย บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ภายใต้การบริหารของซีเค พาวเวอร์ โดยโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว แห่งนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ถือเป็น “ต้นแบบโรงไฟฟ้าแม่นํ้าโขง” ไม่มีอ่างกักเก็บนํ้าขนาดใหญ่ ออกแบบในรูปแบบนํ้าไหลผ่าน ปริมาณนํ้าที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้าเท่ากับปริมาณนํ้าที่ไหลเข้าเพื่อ “ผลิตไฟฟ้าสะอาด” จากพลังนํ้า ด้วยกระบวนการต่าง ๆ “บนพื้นฐานความยั่งยืน”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับการกราบสักการะพระพุทธรูปสำคัญที่นำมาเล่าสู่… “3 พระพุทธรูปสำคัญแห่งหลวงพระบาง” ประกอบด้วย… “พระแสน-พระบาง-พระม่าน” ซึ่งในวันแรกที่คณะไปถึงหลวงพระบาง ก็ได้เดินทางไปที่ วัดหนองสีคูนเมือง หรือที่คนหลวงพระบางเรียกสั้น ๆ ว่า วัดหนอง บนถนนขุนซวา เพื่อกราบสักการะ “พระแสน” หรือ “พระเจ้าองค์แสน” โดยมีพระสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่คนหลวงพระบางทำพิธีเสริมสิริมงคลให้ ซึ่งประวัติพระแสนนั้นมีเรื่องเล่า-มีตำนานระบุไว้ว่า ชาวบ้านหมู่บ้านโคมเสลาได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดหนักหนึ่งแสนเฟื้อง จากเชียงแสน เพื่อมาไว้ที่หมู่บ้าน ทว่าแพที่ล่องตามนํ้าเกิดมาหยุดอยู่ที่ท่านํ้าวัดหนอง ชาวบ้านจึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดนี้ตั้งแต่นั้น ขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระแสนนั้นก็มีตำนาน เช่น ปี พ.ศ. 2317 เกิดไฟไหม้ใหญ่จนสิมเสียหายเกือบทั้งหลัง ทว่าพระเพลิงกลับมิทำอันตรายใด ๆ ต่อองค์พระเลย คนหลวงพระบางจึงเรียกขานพระพุทธรูปสำคัญนี้ว่า “พระเจ้าองค์แสนศักดิ์สิทธิ์” …นี่เป็นเกร็ดพระพุทธรูปองค์นี้

ส่วน “พระบาง” หรือ “พระบางพุทธลาวัลย์” พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง รวมถึงชาวอีสานของไทยด้วย ชื่อพระบางจึงคุ้นหูคนไทยมายาวนาน โดยเคยมีการอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ประวัติพระบางนั้นมีข้อมูลหลายแหล่งระบุสอดคล้องกันว่า เดิมทีประดิษฐานที่อาณาจักรขอม จนปี พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์แห่งล้านช้าง ได้ทูลขอมาประดิษฐาน ณ เชียงทอง อันเป็นนครหลวงอาณาจักรล้านช้างขณะนั้น แต่เมื่อถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณเมืองเวียงจันทน์ปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ทำให้เดินทางต่อไม่ได้ พระบางจึงประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้ จนถึง พ.ศ. 2055 สมัยพระเจ้าวิชุณราช จึงมีการอัญเชิญ “พระบาง” ขึ้นประดิษฐาน ณ วัดวิชุนราช นครเชียงทอง และต่อมาก็ทำให้ “เมืองเชียงทอง” ถูกเรียกขานว่า “หลวงพระบาง” ซึ่งปัจจุบันองค์พระบางประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง อันเป็นอีกสถานที่สำคัญที่ผู้ไปเยือนหลวงพระบางมักไม่พลาดเข้าชม

ผู้บริหาร ซีเค พาวเวอร์ และ เดลินิวส์

สำหรับพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์ ซึ่งคณะ “เดลินิวส์” ได้รับโอกาสพิเศษให้ได้เข้ากราบสักการะ ก็คือ “พระม่าน” พระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอีกหนึ่งองค์ของคนหลวงพระบาง ที่ประดิษฐานอยู่ใน หอพระม่าน ภายใน วัดเชียงทอง ที่โดยปกติการเปิดหอพระม่านจะเปิดเพียงปีละครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ทำให้ ช่วงเวลาปกติคนจะยลองค์พระได้ก็ต้องมองผ่านช่องมองเล็ก ๆ ซึ่งถูกเจาะไว้ที่ประตู เท่านั้น หลายคนในคณะของเราจึงไม่ยอมพลาดโอกาสพิเศษในครั้งนี้

ประวัติของพระม่านนั้น บางตำนานเล่าไว้ว่า เชื่อกันว่าพระม่านถูกสร้างขึ้นโดยชาวพม่า จึงได้ชื่อว่า “พระม่าน” นอกจากนั้นก็ยังมีตำนานเล่าสืบกันว่า หลังสร้างองค์พระเสร็จก็มีการอัญเชิญลงแพนำไปพม่า แต่เมื่อผ่านหลวงพระบาง แพกลับหยุดและหมุนวน จะทำอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้ ผู้อัญเชิญจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากองค์พระไม่ประสงค์ไปหงสาวดีก็ขอให้เลือกวัดที่อยู่เองเถิด โดยหลังเรื่องนี้ถูกรํ่าลือออกไปก็มีเจ้าอาวาสจากวัดหลายแห่งมาอัญเชิญองค์พระ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมาถึงเจ้าอาวาสวัดเชียงทอง ก็ปรากฏว่าสามารถอัญเชิญองค์พระขึ้นจากนํ้าได้ จากนั้นจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงทอง แต่ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกแบบไม่มีท่าทีจะหยุด จึงมีการสร้างหอพระม่านขึ้นเพื่อใช้ประดิษฐาน จนเกิดความเชื่อว่า ยามใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ให้อัญเชิญพระม่านออกมาสรงนํ้า แล้วฝนก็จะตก ขณะที่อีกความเชื่อที่เป็นที่นิยมในหมู่คนหลวงพระบาง คน สปป.ลาว มาก ๆ อีกหนึ่งเรื่อง ก็คือความศักดิ์สิทธิ์เรื่อง กราบสักการะเพื่อขอบุตรหรือขอลูก นั่นเอง

หอพระม่าน

นี่เป็นเรื่องราวโดยสังเขปของ “พระพุทธรูปสำคัญแห่งหลวงพระบาง” ทั้ง 3 องค์ คือ “พระแสน-พระบาง-พระม่าน” ที่หากใคร ไปเยือนหลวงพระบางก็ไม่ควรพลาดโอกาสเข้ากราบสักการะ “เสริมมงคลชีวิต”

หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ และ หลวงพ่อพระใส

ทั้งนี้ จากหลวงพระบางไปทางทิศใต้ประมาณ 80 กม. ในพื้นที่ แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณที่อยู่ห่างจากปากแม่นํ้าโขงประมาณ 1,900 กม. ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ติดกับจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และเลย บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของ “โรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี” โรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบนํ้าไหลผ่าน หรือ Run-of-River ที่มีจุดเด่นคือ “ผลิตไฟฟ้าสะอาดด้วยกระบวนการต่าง ๆ บนพื้นฐานความยั่งยืน” ขณะที่ใน วิหารพุทธสิริราชสัตตราชนาคินทร์ไซยะบุรี ที่อยู่ในอาณาบริเวณโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางนาคปรก คือ “พระพุทธสิริสัตตราช” หรือ “หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์” และ “หลวงพ่อพระใส” ที่เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือปางชนะมาร ซึ่งประดิษฐานอยู่คู่กันภายในวิหาร

วิหารพุทธสิริราชสัตตราชนาคินทร์ไซยะบุรี

วิหารพุทธสิริราชสัตตราชนาคินทร์ไซยะบุรี นี้ ทางโครงการโรงไฟฟ้าฯ ออกแบบจัดสร้างพิถีพิถัน วิจิตรงดงามในรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้างประยุกต์ และ “หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์” “หลวงพ่อพระใส” ที่ประดิษฐาน ณ วิหารแห่งนี้ไม่เพียงเป็นขวัญกำลังใจของพนักงานโรงไฟฟ้า หากแต่ ชาวบ้านรอบ ๆ โครงการ คนแขวงไซยะบุรี ก็เคารพศรัทธา เช่นกัน

วิวมุมสูงหลวงพระบาง

…ทั้งเมืองมรดกโลก “หลวงพระบาง” และแขวง “ไซยะบุรี” ที่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมถึงเส้นทางจากหลวงพระบางสู่แขวงไซยะบุรีที่มีหลาย ๆ จุดที่มีความสวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขา พรรณไม้ สายนํ้า …ทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวนี้ มีความน่าสนใจ มีสิ่งน่าสนใจ และรวมถึงการที่ผู้มีโอกาสไปเยือนจะได้ “อิ่มบุญ-อิ่มมงคล”…

ได้ “กราบสักการะพระศักดิ์สิทธิ์”

“เสริมสิริมงคลให้กับชีวิต”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ : รายงาน