“ความรักชาติ” คืออะไร ?

ตรงนี้มันก็มีการนิยามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ที่ดูจะสอดคล้องต้องกันที่สุด คือ “ประชาชนมีความเป็นพลเมืองช่วยขับเคลื่อนให้ชาติบ้านเมืองเจริญ แข่งขันกับนานาอารยประเทศได้” ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบบ้านเรา คือการเลือกตั้งเอารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมาบริหารประเทศ จากที่เราพูดๆ กันในบางกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาลปัจจุบัน ว่า “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจมา ไม่ทำให้อะไรเจริญ” ซึ่งจริงๆ ผลงานรัฐบาลก็มีมาก เพียงแต่บางที …คนไม่ชอบเขาก็เลือกที่จะใช้อคติบังตา แล้วก็เอาชุดความเห็นเดิมๆ มาอ้าง

อย่างไรก็ตาม“จุดเปลี่ยน”คือการสร้าง“ภาพฝันใหม่”ว่าประเทศไทยจะหลุดจากระบบการเมืองน้ำเน่า รัฐประหาร สิทธิมนุษยชนเฟื่องฟู เสียงประชาชนดังกว่าเดิม เศรษฐกิจมีความเท่าเทียม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำลดลง มี“ผู้เล่น”ทางการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่ใช่พวกอำนาจเก่า ผู้มีอิทธิพล บ้านใหญ่ ส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยม ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับหนึ่ง คนเลือกก้าวไกลก็บอกว่านี่คือความรักชาติ แบบว่า “ให้ ( บางเรื่อง ) มันจบที่รุ่นเรา” ..ชนิดที่พรรคเพื่อไทยที่ประกาศแลนด์สไลด์ได้แต่มองตาปริบๆ ..ซึ่งเอาจริงเพื่อไทยก็ทำการบ้านมานาน แต่ทีนี้ ปัญหาหนึ่งคิดว่า เพราะคนเบื่อเรื่องการเป็นพรรคเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แล้ว และถ้าเพื่อไทยมา เอานายทักษิณกลับมา ความขัดแย้งก็ไม่จบ

ทักษิณ' โพสต์รัวๆ จะกลับช่วงรัฐบาลประยุทธ์รักษาการ พร้อมเข้าคุก  ด้วยรักผูกพันแผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา

แบบว่า เราควร “move forward” หรือมองไปข้างหน้าได้แล้วดีกว่ามาเถียงกันอยู่เรื่องทักษิณอยู่ไม่รู้แล้ว เผื่ออะไรๆ มันจะดีขึ้น และนโยบายของพรรคก้าวไกลก็ค่อนข้างมีความสังคมนิยมตรงที่เพิ่มภาษีคนรวยเพื่อมาเป็นรัฐสวัสดิการคนจน คนชั้นกลาง ..แต่ความน่าชวนหัวคือกติกา ที่พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ทันที ต้องไปรวมเสียง สส.ภายหลังจากนั้น และมันก็บิดเบี้ยวหนักเข้าไปอีกตรงที่ให้ สว.ที่มาจากคณะทำรัฐประหารแต่งตั้งมาช่วยกันกรอง “คนดีย์” ( เขาบอกว่าแปลว่าเน้นเสียงคำว่าดีน่ะ ไม่มีความหมายพิเศษอะไร ) โหวตเลือกนายกฯ ซะงั้นในช่วง 5 ปีหลังใช้รัฐธรรมนูญ ..หรือเขาคงคิดว่าพ้นห้าปีคงเข้ายุคพระศรีอาริย์ ที่มีแต่คนดีเต็มเมืองไปหมด

ต่อมา พรรคก้าวไกลก็ไปจับมือกับเพื่อไทย แล้วก็ขบเหลี่ยมกันเองเพราะเอาจริงแล้ว พรรคอันดับหนึ่งและสองมันมักจะเป็นคู่แข่งกันไม่ใช่จับมือกัน คราวนี้ก็เลยเจอเพื่อไทยงอแงไปหลายดอก ตั้งแต่จะเอาประธานรัฐสภา เสียง สว.โหวตก็ให้พรรคก้าวไกลไปหาเอง แล้วผีซ้ำด้ำพลอยเข้าอีกตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลขาดคุณสมบัติเพราะถือหุ้นสื่อไว้วินิจฉัย..ซึ่งก็ไม่รู้จะเลยเถิดไปถึงขั้นว่า สส.พรรคก้าวไกลต้องพ้นเก้าอี้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะนายพิธาเป็นผู้เซ็นรับรองผู้สมัคร สส.

แล้วก็มีกระบวนการสลายก้าวไกลอีก โดยอ้างว่า การประกาศยกเลิก หรือแก้ไข ม.112 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ที่จะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ “เขาว่า” ( เขาไหนก็ไม่รู้นะ ) ถ้าศาลรับไว้วินิจฉัยก็พักงาน สส.ก้าวไกลทั้งพรรค แล้วก็ถ่วงเวลาพิจารณายาวไป แต่เอาเป็นว่า เรื่อง ม.112 กลายเป็นเงื่อนไขที่เป็นข้ออ้างให้ สส.,สว.บอกไม่เอาพรรคก้าวไกล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พรรคเพื่อไทยได้ส่งเทียบเชิญนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาล เป็นการประเดิมพรรคแรก และพรรคที่จะตามมาคือ ชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) เท่ากับ “ข้ามขั้ว” ไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับรัฐบาลชุดเดิม ( เอ ..หรือจะไม่เรียกว่าข้ามขั้ว แต่เรียกว่าไปรวมกับเขา ) ซึ่งดูเสี่ยหนูท่าทางดีใจมาก ถึงกับบอกว่า 71 เสียงของพรรคภูมิใจไทยจับมือกับเพื่อไทยแน่นอน   

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ออกแถลงการณ์ว่า  แนวทางจัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ และ สส., สว.  ขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจาก สส.,สว. เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้โดยเร็ว  รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้ แม้จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เนื่องจากปัญหาของประเทศชาติ และประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่นี้ มีความเดือดร้อนรุนแรง การประวิงเวลาออกไปยิ่งทำให้เกิดความเสียหายยิ่งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไรจะยิ่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

อธิบายความง่ายๆ คือ “ประเทศไม่มีรัฐบาลมันมีปัญหา เพราะฉะนั้น ขอให้พรรคอื่นมาช่วยโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย เพื่อเดินหน้าประเทศชาติ แล้วเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งในทางการเมืองอาจต้องบอกว่ามะเหงกแน่ะ ใครจะให้เสียงฟรีๆ ในเมื่อการเมืองมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์

แถลงการณ์ระบุต่อว่า เรามีความประสงค์จะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ( ก็ดูตอนยังจับมือกับก้าวไกล แล้วคิดเอาเองว่า ทำการเมืองสร้างสรรค์หรือไม่ )  และย้ำว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความพิเศษ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และวิกฤตรัฐธรรมนูญก่อตัวเป็นปัญหาของประเทศ และประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราจึงต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก ( นั่นแน่ เอาประชาชนมาอ้าง )  

เมื่อฝ่ายค้านเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุน ( เชื่อได้ไหม ? เดี๋ยวองค์ประชุมก็ล่มอีก 555 )  นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ( ก็มันหน้าที่เขาอยู่แล้ว นี่ก็อยากรู้ว่าเพื่อไทยจะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจกี่คนถ้าตั้งรัฐบาลได้ ) ทั้งนี้ แนวทางการทำงาน คือ  

1. ยึดวาระของประเทศ และประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ 

2. จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) อันนี้ก็แปลกๆ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งสร้างความปรองดอง แต่วาระแรกแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เอาจริงปัญหามันก็น่าจะหมดตอน สว.เฉพาะกาลหมดวาระแล้ว ..ปัญหาในรัฐธรรมนูญที่โวยวายกันมากก็เรื่อง สว.เลือกนายกฯ ได้นี่แหละ

แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งก็เป็นข้อดี ไม่ใช่ให้เป็นแบบปัจจุบันที่น่าเวียนหัวอย่างแรงว่าใครเป็นนายกฯ เอาให้เป็นแบบว่า พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งคือรัฐบาล เสียงข้างมากอันดับสองคือฝ่ายค้าน สามัญง่ายๆ แค่เนี้ยพอ สว.ถ้าจะมีก็ให้มาจากการเลือกตั้งเอา ส่วนเรื่องห้ามถือหุ้นสื่อที่เห็นว่ายิบย่อยนั้น..เอาจริงมันสำคัญ เพราะสื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ เป็นผู้นำทางความคิดของประชาชนได้ ( ลองดูอิทธิพลของรายการอย่างเจาะกระแส รายการนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา รายการของนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ หรือหมาแก่ ) ถ้านักการเมืองมีอิทธิพลเหนือก็ควบคุมทิศทางการเสนอข่าวได้ เรื่องนี้ให้คงไว้ แต่ให้หามาตรการป้องกันการแทรกแซงสื่อ แล้วก็จะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ อีกก็ค่อยว่ากัน

อาจเป็นรูปภาพของ 6 คน และ ข้อความ

การแถลงของสองพรรคเป็นการส่งสัญญาณครั้งแรกว่า ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 188 เสียง ได้ถูกสลายแล้ว ซึ่งเสียงร่วมรัฐบาลเบื้องต้นได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา ( ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า ( ชพก.2 เสียง ) พรรคเพื่อไทยรวมพลัง ( พทล.)  2 เสียง และรวมเสียงพรรคเล็กที่มี สส.บัญชีรายชื่อพรรคละคน คือพรรคเสรีรวมไทย (สร.)  1 คน  พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปชม.)  1 คน พรรคใหม่ (ม.)  1 คน  พรรคท้องที่ไทย (ท.) 1 คน พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (ค.พ.ช.)  1 คน เป็นเสียงจัดตั้งรัฐบาลเบื้องต้น 241  เสียง

ยังไม่รวมเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากที่ประชุม กก.บห.พรรค เนื่องจากมีสมาชิกพรรคบางส่วนต้องการให้เป็นฝ่ายค้านเพื่อรีแบรนด์พรรค  พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ซึ่งทั้งสองพรรคหลัง มีรายงานข่าวว่าอาจมีการแตกกลุ่มไปโหวตให้พรรคเพื่อไทย แต่ในส่วน พปชร. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ต้องการให้ไปด้วยกันทั้งพรรค และขณะเดียวกัน ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่แสดงท่าทีชัดว่าไม่เอาทั้ง 2 พรรคเพียงแต่พูดทำนองว่า “ต้องไม่มี 2 ลุง”

ซึ่งการไม่เอาสองลุงอาจเป็นความเสี่ยงของพรรคเพื่อไทยอีกล่ะ ( 555 มันเป็นเรื่องตลกร้าย ) เนื่องจากสองลุงนี่แหละมีอำนาจสั่ง สว. และตอนนี้ก็มีการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการที่บริษัทแสนสิริ “วางแผนภาษี” ซื้อที่ดิน ว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.160 ( 4 ) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ..และการเมือง อย่าคิดว่ามันสะอาด อะไรก็เกิดขึ้นได้

เผลอๆ เสียงโหวตไม่ให้นายเศรษฐาผ่าน เพราะเมื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็ปฏิบัติการแหกตาเครือข่ายรัฐบาลเก่าน่าจะสักสองสามเดือน ให้แถลงผลงานรัฐบาลเสร็จ พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ผ่าน ประชามติเรื่องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทำด้วยมติ ครม.แล้ว ก็อาจถีบหัวส่งพรรคร่วมรัฐบาลเก่าออกโดยการปรับ ครม.ก็ได้ มันก็ต้องมีความระแวงกันอยู่ ดังนั้น ถ้านายเศรษฐาไม่ได้รับความไว้วางใจ นายอนุทินจากพรรคภูมิใจไทยก็ต้องตั้งรัฐบาล โดยมีโอกาสไปดึงพรรค 2 ลุงและประชาธิปัตย์มาร่วม ..แต่ถ้าถูกหักหลังเบอร์นี้ คือชื่อนายเศรษฐาตกตอนโหวตนายกฯ แรงแค้นเพื่อไทยอาจย้อนกลับไปจับมือก้าวไกล แล้วรอ 10 เดือนให้ สว.ชุดนี้ไปให้พ้นๆ ก็ได้

ปรากฏอาจมีโดนเล่นเกมอีก คือระหว่างรอ 10 เดือน มีพักงาน สส.ก้าวไกลจากคดีแก้ ม.112 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.49 หรือไม่ ทีนี้เสียงสภาก็ถูกฟรีซไป 151 เสียง เพื่อไทยเหลือ 141 เสียง พรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบันมี 188 เสียง ..ก็กลายเป็นเรื่องตลก..แบบตลกจนน่าสำรอก ถ้าเล่นการเมืองกันได้ถึงขนาดนี้

แต่ก็ต้องยอมรับ การเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้เพื่อผลประโยชน์

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”