เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ก.ค. ที่ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน น.ส.กัลยา ทาสม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทอง และนายพิเชษฐ ปั้นงาม ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยนายกวี เจริญเศรษฐี ทนายความ ได้เดินทางมาที่สภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือทางคดี กรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยนำเด็กต่างด้าวเข้าเรียนในราชอาณาจักรไทย โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ และนายธีระเกียรติ อนันตรสุชาติ ประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง เป็นผู้รับเรื่อง

น.ส.กัลยา กล่าวว่า ตนขอคุณสภาทนายความที่รับเรื่องร้องทุกข์แล้วก็เข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้นอกจากคดีความ ตนโดนสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตั้งกรรมการสอบวินัย โดยกล่าวหาว่าตนไม่ได้ดําเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจริงๆ แล้วในการดําเนินการครั้งนี้มันมีระเบียบที่รองรับไว้ก็คือ ระเบียบของการรับนักเรียนว่าด้วยหลักฐานการศึกษา จะมีบัญญัติไว้ว่าการที่เราจะรับนักเรียนจะต้องมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่นักเรียนเหล่านี้ที่เขาได้รับโอกาสจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เขาได้แจ้งไว้ว่าเขาไม่มีเอกสารหลักฐานอะไรเลยในวันที่เรารับ แล้วก็ผู้ปกครองเขาพามาสมัครเรียนก็สามารถทําได้โดยที่เราใช้แบบบันทึกทะเบียนประวัติบุคคลเข้าไปเพื่อที่จะแนบในการขอรหัสเพื่อที่รับค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา เราได้ทําตามระเบียบตรงนี้ ส่วนอีกข้อกล่าวหาที่คือให้การศึกษาเด็กที่ไม่มีสิทธิในการมารับการศึกษาใน มารับโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย เด็กที่เรียนกับเรา ต้องทําความเข้าใจว่ามีอยู่ก่อนแล้วช่วงหนึ่ง เมื่อปีการศึกษา 2565 โดยที่เขาได้รับการศึกษาได้รับการดูแลจากมูลนิธิให้ที่อยู่ให้อาหาร ตนก็เห็นว่าตรงนี้มันเป็นโอกาสเป็นสถานที่จะให้การศึกษา ก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหาในการเรียนของกลุ่มเด็กๆ เเต่ที่มามีปัญหาปีนี้อาจป็นผลที่จะดูว่าเราขอยื่นขอรหัสมันมีจํานวนเยอะขึ้นกว่าเดิม ก็เลยลงมาตรวจสอบ โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าเขาได้ปรึกษากับต้นสังกัดหรือไม่ เเต่ในวันดังกล่าวมันเหมือนกับการมาจับกุมหรือมาตั้งว่าให้ตนเป็นคนผิด เป็นจําเลยของสังคมว่าทําผิดกฎหมายพาเด็กต่างด้าวเข้ามาในวันนั้น

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า การเพิ่มจำนวนเด็ก เราได้ขออนุญาตหนังสือแจ้งไปที่ต้นสังกัดว่า เราจะไปรับเด็กมาเรียนโดยค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายต่อหัว เป็นเด็กอนุบาลเนี่ย 1,700 บาทต่อปี เเต่ถ้าเป็นเด็กประถมก็คือ 1,900 ต่อคนต่อปี โดยเด็กส่วนมากก็จะเป็นชนเผ่าไม่ใช่คนพม่าทั้งหมด เป็นคนชนเผ่าเป็นคนไทยก็มี เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ซึ่งตอนนี้เด็กได้ถูกส่งกลับไปพม่าเกือบหมดแล้ว ตอนนี้เหลือเด็กที่อยู่ในบ้านพักอยู่ 4 คน ซึ่งยังไม่มีผู้ปกครองมารับ ตนเป็นคน จ.เชียงราย แล้วเป็นคนที่ฐานะยากจน ในสมัยก่อนได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยที่ได้รับทุนเรียนมาตั้งแต่มัธยมจนถึงระดับปริญญาตรี ในวิชาชีพครู ก็ได้เล็งเห็นว่าโอกาสที่เราได้รับเราควรจะแบ่งปันให้กับคนอื่นบ้างก็ได้ตั้งปณิธานกับตนเองว่า วันนึงอะเราจะแบ่งปันโอกาสที่เราได้รับเนี่ยให้กับคนอื่น พอได้มาเป็นครูก็ได้บรรจุในอยู่บนดอยก็ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเขาของเด็กเหล่าที่มันมีอยู่แล้วตามตะเข็บชายแดนเกือบทุกโรงเรียน

“ตอนนี้ที่โดนเเจ้งข้อหาก็มี ผอ. มีผู้ใหญ่บ้าน มีครู เเละก็ภารโรงเป็นคดีที่ สภ.อ.ป่าโมก ส่วนเด็กเขาก็พยายามที่จะถามว่า ผอ.ว่าหนูจะได้กลับไปเรียนไหม แล้วเมื่อไหร่จะได้กลับ สงสารเด็กๆ อยากฝากไปถึงคุณครูทั่วประเทศที่มีเด็กเหมือนเด็ก 126 คนนี้ หากได้รับผลกระทบในวงกว้างอยากให้ท่านได้ใช้เวทีนี้ได้ลุกขึ้นมา เพื่อที่จะปกป้องการทํางานของท่านเอง ว่าทุกวันนี้ท่านอาจจะกังวลว่าฉันจะผิดหรือไม่ ฉันจะถูกจับ ฉันจะถูกดําเนินคดีหรือไม่ อยากให้มาช่วยกันว่ากระทรวงศึกษาธิการเนี่ยเขาทําไมถึงไม่ช่วยครู ในวันนี้แจ้งความดําเนินคดียังไม่พอแจ้งสอบสวนวินัยร้ายแรงด้วย” อดีต ผ.อ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ระบุทั้งน้ำตา

นายกวี ทนายความ น.ส.กัลยา กับพวก กล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่โดนเเจ้งข้อหา ว่า ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตาม พรบ.คนเข้าเมืองในเรื่องของการนําพาคนต่างด้าวเข้ามาถึงราชอาณาจักร เเละเรื่องของการให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ในชั้นสอบสวนก็ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะทําเอกสารชี้แจงเอกสารผ่านทางพนักงานสอบสวนเเละในชั้นอัยการ โดยวันนี้ยื่นผ่านพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเเละขอชะลอการส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการแล้ว เราก็จะเสนอพยานหลักฐานต่างๆ ให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้อยู่ในสํานวนส่งต่อให้กับอัยการต่อไป ซึ่งวันนี้ทางพนักงานสอบสวนก็ชะลอตามที่เรานัดต่อไปวันที่ 8 ส.ค. โดยผู้เเจ้งความร้องทุกข์คือสํานักงานกระทรวงศึกษาธิการ

นายกวี กล่าวต่อว่า น.ส.กัลยา รับเด็กมาจากโรงเรียนราษฎร์พัฒนา เชียงราย ซึ่งอยู่ในประเทศไทย มีผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้นําพาเข้ามาในประเทศ เพื่อส่งมอบตัวให้กับโรงเรียน น.ส.กัลยา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเเละเป็นคณะกรรมการของโรงเรียนอํานวยความสะดวกซึ่งรับเด็กไว้ เนื่องจาก น.ส.กัลยา ก็เคยเป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนราษฎร์พัฒนาอยู่แล้วสมัยที่เคยใช้ชีวิตเป็นครูดอยอยู่ตามตะเข็บชายแดนมาตลอด ก่อนที่ได้สอบบรรจุเป็น ผอ.ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จังหวัดอ่างทอง

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ในเบื้องต้นสภาทนายความได้รับเรื่องและจัดทนายความอาสาสอบข้อเท็จจริง พร้อมรวบรวมหลักฐานในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ ส่วนการผลักดันเด็กนักเรียนต่างด้าวกลับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่สถานการณ์ยังมีการสู้รบกันอยู่ อาจส่อไปในทางผิดหลักสิทธิมนุษยชน ในส่วนคดีได้มีทนายความได้เข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้นระดับหนึ่งแล้ว แต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญที่เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากทราบว่าทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง น.ส.กัลยา กับพวกทั้ง 5 คน เเละขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีการผลักดันให้เด็กที่ไร้สัญชาติและก็ด้อยโอกาสกลับไปยังประเทศ ซึ่งตอนนี้ทราบว่าตกอยู่ในสภาวะที่ยังไม่สงบเท่าที่ควรยังมีการสู้รบกันบานปลาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กที่ถูกผลักดันให้ออกไป ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษย์ชนเป็นเรื่องที่สภาทนายความต้องให้การดูแลอยู่แล้ว ถือว่าเป็นภาษาสากลแบบที่ทุกคนในโลกนี้ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ และในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องคํานึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

โดยหลังจากรับเรื่องขอความช่วยเหลือในวันนี้เราจะมีการสอบข้อเท็จจริงในทุกรายละเอียด แต่ว่าเท่าที่สอบถามกับเบื้องต้น มองว่าการรับเด็กต่างด้าวไม่ใช่คนสัญชาติไทย และก็ไม่มีทะเบียนบ้าน ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจจะเกิดอยู่ตะเข็บชายแดน ที่มาเรียนหนังสือ เพื่อเป็นการเสริมสร้างชีวิตของเขาให้ดีขึ้น เพื่อเป็นอนาคต ไม่ใช่ประเทศไทยมันเป็นอนาคตของโลกต่อไป มิฉะนั้นแล้วถ้าปล่อยปละละเลยให้อยู่ตามธรรมชาติเด็กอาจจะเสียชีวิตในทางภัยสงครามก็ได้ การที่ น.ส.กัลยา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ขอตัดสินใจให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนก็มีเหตุมีผล ทั้งยังได้พิจารณาหลักกฎหมาย ระเบียบ ภาคปฏิบัติต่างกัน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าการกระทําลักษณะที่ถูกกล่าวหาแบบนี้เคยมีแนวคําพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เป็นความผิด ทางสภาทนายถ้าพิจารณาเเล้วเข้าเกณฑ์ให้ความช่วยเหลือก็จะจัดทนายอีกส่วนหนึ่งเข้าไปดําเนินการช่วยเหลือแก้ต่างทางคดีให้

“ในส่วนรูปของคดี อย่างที่เรียนไปเบื้องต้นว่า เนื่องจากเคยมีแนวคําพิพากษาของศาลฎีกาที่มีการพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องลักษณะเดียวกันว่าไม่เป็นความผิดแนวทางการต่อสู้คดี เบื้องต้นทนายความเห็นก็ได้วางเเผนในการที่จะต่อสู้คดีเป็นลักษณะตามคําพิพากษาของศาลฎีกาที่ผ่านมา เเต่ตอนนี้จำเป็นต้องสอบข้อเท็จจริงให่ครบถ้วน และพิจารณาโดยรูปแบบของคณะกรรมการว่ามันเข้าข่ายที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ หากไม่ได้รับเราก็จะให้การช่วยเหลือต่อไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาทนายความ” นายกสภาทนายความ ระบุ

นายสุนทร เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า กรณีเด็กนักเรียนที่ไม่มีทะเบียนราษฎรหรือว่าไม่มีสัญชาติไทย ปัญหานี้สภาทนายความ เคยทําคู่มือร่วมกันกับทางหน่วยราชการ ส่วนราชการและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางปฏิบัติคู่มือและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของบุคคลที่ไม่มีทะเบียนราษฎรและไม่มีสัญชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดมานานแล้วไม่ใช่เกิดเฉพาะที่โรงเรียนดังกล่าว ตนขออนุญาตยกตัวอย่าง คือโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดนกมีโรงเรียนสอนเด็ก เเบบนี้ สอนโดยที่ไม่มีหลักฐานเเบบกรณีนี้ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของกติกาสากล เหมือนประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีคนอพยพมา โดยที่เข้าไปแล้วประเทศสหรัฐอเมริกาเขาก็ให้การศึกษา เขาไม่ได้ผลักดันเด็กออกไปต่างประเทศเลย กลับนำครูมาสอน ซึ่งก็ได้รับความชื่นชมอยู่ทั่วโลก

“คราวนี้ในส่วนของเราไม่ใช่เฉพาะที่นี่ โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน มีอยู่มากมายที่ทําอยู่ เพราะถ้าจับที่นี่ ต้องจับที่อื่นอีกเยอะเลย คู่มืออันนี้ มันเป็นเรื่องของการที่ทําขึ้นโดยที่ยกเว้น พรบ.คนเข้าเมืองฯในบางเรื่อง บางมาตรา ตอนนี้ทางผ.อ.ก็เข้าเขตโรงเรียนไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านก็ถูกแจ้งความดําเนินคดี และยังมีครูผู้ช่วยฯ อีก จากการสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเห็นว่าท่านทําไปโดยที่ไม่ได้มีเจตนาทุจริตเลย ทําไปโดยที่เพื่อประโยชน์กับเด็กที่ได้ศึกษาเล่าเรียน การที่ตํารวจตั้งข้อหาตาม พรบ. คนเข้าเมืองฯ มาตรา 63 เเละ 64 ในเรื่องของการนําพาคนต่างด้าวเข้ามาถึงราชอาณาจักร เเละเรื่องของการให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่ได้เป็นคนนําเข้ามา แต่เป็นผู้ปกครองซึ่งเป็นคนไทยเป็นคนนํามา ให้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย ให้ศึกษาเล่าเรียน ส่วนในเรื่องของให้ที่พํานักตามมาตรา 64 จะต้องให้พำนักเพื่อที่จะหลบหนีทํานองนั้นแต่อันนี้มันไม่ใช่ เเต่เป็นการให้พำนักเพื่อให้การศึกษาเจตนาในการกระทําความผิดไม่มี” เลขาธิการสภาทนายความ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายวานว่า ภายหลังสอบข้อเท็จจริงเเล้ว เวลา 17.20 น. ทางสภาทนายรับช่วยเหลือคดีความเเล้ว.