เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 66 นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย-อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า “แก้รัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. โจทย์ยาก”
พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่าจะปิดสวิตช์ ส.ว. 0 ดูกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 แล้ว คงไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องเสนอแก้ไขต่อที่ประชุมรัฐสภา (ปัจจุบัน ประกอบด้วย ส.ส. 500 + ส.ว. 249 รวม 749 )
ส.ส. เข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คงไม่มีปัญหา เข้าชื่อกันเพียง 100 คน จะเริ่มมีปัญหาตั้งแต่การลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ที่เป็นการลงคะแนนเปิดเผยด้วยการขานชื่อ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือ 375 เสียง และในจำนวนเสียงที่เห็นชอบด้วย ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ทั้งหมด (คือ 83 เสียง)
ถ้าผ่านวาระรับหลักการไปได้ ในการพิจารณาวาระที่สอง เรียงมาตราก็คงไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะการออกเสียงในวาระสอง ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ
ผ่านวาระสองแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน จึงนำมาพิจารณาในวาระที่สาม ในการพิจารณาลงมติในวาระที่สาม เป็นการลงมติโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อ มติเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่ (ต้องได้เสียงเห็นชอบ 376 เสียง) และยังมีเงื่อนไขพิเศษ คือ ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
ที่สำคัญคือในเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ทั้งหมด (คือ 83 เสียง)
หาคะแนนจาก ส.ว. ช่วยสนับสนุนพิธาให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 65 เสียง น่าจะง่ายกว่าหาเสียง ส.ว. 83 เสียง มาสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. หรือเปล่าครับ