จากกรณี เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ออกมาโพสต์ระบุ อบจ.สกลนคร ดูงานสมาร์ตซิตี้บนเรือยอชท์สุดหรู ค่าใช้จ่ายกว่า 1.7 ล้าน จนเกิดกระแสดราม่า ต่อมา ดร.ชูพงษ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร ออกมาโต้ทันควัน ว่า เรือยอชท์ที่นั่งเป็นเพียงเรือเช่ารับส่งระหว่างเกาะราคาหลักพัน ส่วนเช็กอินที่เที่ยว เป็นนอกเวลานอกราชการหรือเวลาอบรม นั้น
อิจฉาเลย! ‘อบจ.สกลนคร’ ขนเจ้าหน้าที่ไปดูงานบน ‘เรือยอร์ชสุดหรู’ ค่าใช้จ่ายกว่า 1.7 ล้าน
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ ห้องประชุม อบจ.สกลนคร ได้แถลงชี้แจงการเข้าร่วมศึกษาดูงานในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรระยะสั้นการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งการเป็นเมืองอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 15-19 มิ.ย. 66 ณ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต โดยมี ดร.ชูพงษ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร พร้อมด้วย อาจารย์วุฒิพงษ์ พันธุมนันท์ ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 ทำไมค่าลงทะเบียน คนละ 28,800 บาท จำนวน 60 คน ยอด 1.7 ล้านบาท โครงการอบรมฯ ดังกล่าว เป็นโครงการอบรมเพื่อจัดทำสมาร์ตซิตี้ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง 1.วันที่ 25-26 พ.ค. 66 อบรมเชิงปฏิบัติการ 2.วันที่ 15-18 มิ.ย. 66 ศึกษาดูงานสมาร์ตชิตี้ ณ จ.นครศรีธรรมราชและ จ.ภูเก็ต 3.วันที่ 7 ก.ค. 66 สรุปบทเรียนและพัฒนาแผนสู่การนำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าวิทยากร ค่าตั๋วเครื่องบิน 3 ไฟลต์ จากสกลนคร-ดอนเมือง-นครศรีธรรมราช-ภูเก็ต-อุดรธานี ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าโรงแรมจัดอบรม ซึ่งใช้เวลาหลายวันกว่าการดูงานทั่วไปและมีการทำงานต่อเนื่องอีก 1-2 ปี กว่าโครงการจะสำเร็จ เพื่อของบจากกระทรวงดิจิทัลในการทำสมาร์ตซิตี้ต่อไป
ประเด็นที่ 2 การไปไหว้พระวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ไปไหว้พระวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นการไหว้ เวลา 18.00 น. หลังจากดูงานเสร็จในฐานะชาวพุทธถือว่าเป็นสิริมงคลกับชีวิต
ประเด็นที่ 3 ชิม ช้อป ใช้ ทุเรียนสาริกาที่จังหวัดพังงา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เข้าเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาจังหวัด โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ได้นำทุเรียนสาริกามาให้ชิมจำนวน 10 ลูก เพื่อโปรโมตทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงในห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา โดยไม่ได้มีการซื้อขายแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 4 ประเด็นล่องเรือยอชท์เหมาลำ เกาะเฮ และเกาะราชา เป็นการดูงานด้านการท่องเที่ยว Smart tourism ซึ่งอยู่ภายใต้งานด้าน Smart Economy เรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต เพื่อนำแนวคิดมาพัฒนาทะเลสาบหนองหารสกลนคร เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง โดยเรือที่เดินทางเป็นเรือยอชท์ประเภทโดยสาร บรรจุคนได้ 60-80 คน นำชมเกาะไป-กลับ ไม่ใช่เรือยอชท์หรูอย่างที่สังคมเข้าใจ
ประเด็นที่ 5 ถ่ายรูปเช็กอิน แหลมพรหมเทพ เป็นการถ่ายรูปไปเช็กอินนอกเวลาและเป็นทางผ่าน แวะลงเพียง 30 นาที หลังการอบรมเสร็จ
ประเด็นที่ 6 งานเลี้ยงรับรองช่วงเย็น และท่องราตรีภูเก็ต การอบรมดูงานต่างจังหวัดทุกแห่ง ช่วงเย็นย่อมมีการรับประทานอาหารและหลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็แยกย้ายพักผ่อนกันตามอัธยาศัย เพราะเป็นเวลาส่วนตัวของผู้มาอบรม
จากข้อกล่าวหาทุกประเด็น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครและมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ขอยืนยันว่าการอบรมในหลักสูตรนี้มีความคุ้มค่า ได้รับประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนา จ.สกลนคร ในอนาคต ได้อย่างแน่นอน โปร่งใส ตรวจสอบได้
อาจารย์วุฒิพงษ์ กล่าวว่า ภายหลังจากจบโครงการอบรมเชิงปฏิบัติหลักสูตรระยะสั้นสมาร์ตซิตี้ องค์การส่วนท้องถิ่นก็มีทิศทางบริหารงานที่ชัดเจนมากขึ้น และบุคลากรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กร การศึกษาวิเคราะห์มีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งผู้ปฏิบัติและผู้กำหนดนโยบาย หวังเข้าถึงเป้าหมายอย่างยั่งยืน ส่วนสมาร์ตซิตี้ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีความสุขกับการประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแนวคิดนี้ทำให้องค์กรเอกชนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดสกลนคร เข้ามาผลักดันความรู้ไปยังองค์การส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองด้านสมาร์ตซิตี้มาเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน 2 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต จากการไปศึกษาดูงานได้ข้อสรุปดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น โรงงานกำจัดขยะ ผลิตพืชปุ๋ยสดจากผักตกชวาทะเลสาบหนองหาร ส่วนด้านสุขภาพ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครมีนโยบายส่งเสริมให้เป็นเมืองด้านสุขภาพครบวงจร และด้านเศรษฐกิจ การดูแลเกษตรกรให้เข้าใจระบบสมาร์ตฟาร์มเมอร์และการท่องเที่ยว ที่ต้องการให้มีเรือที่เหมาะสมในด้านความปลอดภัยบริการแก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ตซิตี้ตั้งเป้าหมาย 6 เดือน เพื่อให้ได้รับธงตราสัญลักษณ์สมาร์ตซิตี้ และพร้อมขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ดร.ชูพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นดราม่าที่เพจดังเพจหนึ่งได้ออกมาเผยแพร่เรื่องโครงการอบรมศึกษาดูงานหลักสูตรระยะสั้นสมาร์ตซิตี้ ระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย. 66 บนสื่อออนไลน์ ไม่นิ่งนอนใจได้ออกมาชี้แจงกับสังคมสร้างความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ถือว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหาย จากกรณีเพจดังเพจหนึ่งซึ่งได้รับข้อมูลแค่ด้านเดียวไม่สอบถามข้อมูลทั้งสองฝ่าย แล้วเอาไปสรุปประเด็นแค่ 5 บรรทัด ว่าไปดูงานแค่นิดเดียว ท่องราตรีลงสื่อออนไลน์ จนทำให้เกิดความเสียหายและเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง จึงแต่งตั้งฝ่ายกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมปกป้องศักดิ์ศรี อบจ.สกลนคร และเตรียมดำเนินการทางกฎหมายต่อไป.