ที่หนีไม่พ้นอย่างแรกที่คนเลี้ยงจะคิดถึงคือการกำจัดเห็บหมัดออกไป เห็บ-หมัด เป็นสัตว์ที่กินเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร สุนัข แมว มนุษย์ก็เข้าข่ายหมด ดังนั้นถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีเห็บหมัดเกาะกินเลือด เจ้าของก็มีความเสี่ยงที่จะพบเห็บหรือหมัดมาเกาะอาศัยอยู่บนตัว และโดนเห็บหมัดกัดได้เช่นกัน ที่สำคัญเห็บและหมัดบางชนิดจะเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะเป็นพาหะนำโรค อย่าง โรคสครับไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

อันตรายที่พบได้บ่อยที่สุดจากเห็บหมัด ก็คือรอบแผลที่เห็บหมัดทิ้งเอาไว้หลังกัดเรา ด้วยความที่เห็บและหมัดบางชนิดมีขนาดเล็กมาก อาจจะทิ้งอวัยวะบางส่วนเอาไว้บนผิวหนัง หากเรามีอาการแพ้ แผลที่เห็บและหมัดกัดอาจจะอักเสบบวมแดง มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางกรณีอาจจะอักเสบต่อเนื่องเรื้อรังไปเป็นเดือนได้ คนที่แพ้หนัก ๆ อาจส่งผลถึงการหายใจที่ติดขัด ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ในการแกะเห็บหมัดที่กำลังกัดเรานั้นต้องใช้ความระมัดระวัง นำแหนบถอนขนคีบเห็บหรือหมัดในส่วนที่ใกล้กับผิวหนังให้มากที่สุด จากนั้นค่อย ๆ ดึงออกช้า ๆ แต่แนะนำให้ไปหาแพทย์เป็นผู้นำเห็บและหมัดออกมาด้วยเครื่องมือและทำการรักษารอบแผลอย่างถูกต้องจะดีที่สุด

ต่อมาคือ พยาธิต่าง ๆ ที่สามารถติดต่อสู่คนได้อย่างไข่พยาธิไส้เดือน เพราะไข่พยาธิไส้เดือนมีการปนออกมากับอุจจาระของสัตว์ หลังจากนั้นอาจมีการปนเปื้อนมากับดิน น้ำ หรือจากการสัมผัสโดยตรง และติดต่อเข้ามาสู่คน โดยการเข้าสู่ปากและทางเดินอาหาร จนพยาธิเจริญเติบโตต่อไป พยาธิไส้เดือนยังสามารถไชและสร้างความเสียหายแก่อวัยวะต่าง ๆ ของคนได้ (Visceral larva migrans) เพียงตัวอ่อนสามารถสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาท หรือเข้าไปสู่นัยน์ตาสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาทจนสามารถทำให้ตาบอดได้

ส่วน ไข่พยาธิปากขอ จะออกมากับอุจจาระของสุนัขและแมวจะปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งแวดล้อม เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน พวกมันสามารถที่จะไชผ่านผิวหนังเข้าสู่ตัวคน โดยจะทำให้ผิวหนังอักเสบและเกิดอาการคัน ไม่เพียงแค่นั้นในระหว่างวงจรชีวิตสามารถทำให้เกิดปอดอักเสบคออักเสบ และแสดงอาการไอ โดยตัวเต็มวัยที่อยู่ในลำไส้จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวปนมูกเลือด เลือดจางอย่างเรื้อรัง และรุนแรงได้

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหากมีการป้องกันดูแลความสะอาดสัตว์เลี้ยงของเรา ให้ยาถ่ายพยาธิทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ เจ้าของดูแลสุขลักษณะ และอนามัยส่วนบุคคล รับประทานอาหารปรุงสุก ไม่เดินเท้าเปล่า ล้างมือบ่อย ๆ กำจัดสิ่งขับถ่ายของสัตว์ออกจากบริเวณบ้าน เพียงเท่านี้ก็ปลอดภัยหายห่วงแล้ว.

ข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (ซอยด็อก)