เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การระบาดของโควิด-19 อย่างหนักขณะนี้ มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 6,000 คนต่อวันมาระยะเวลาหนึ่ง เพราะมีเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งระบาดใหญ่ ส่วนในต่างจังหวัดที่มีประชาชนเดินทางกลับจาก กทม.นั้น แม้จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังสามารถมีรายได้เป็นอย่างดี
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ กทม.และปริมณฑล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลพื้นที่กทม.โดยตรง แต่เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่และมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลในพื้นที่กทม.โดยปรับมาตรการควบคุมโรคใหม่ เริ่มดำเนินการทันทีเพื่อควบคุมโรค ให้ผู้ติดเชื้อลดลง ภายในก.ค.นี้ คือ 1.ค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ ยกระดับให้เข้มข้น 2.ปรับระบบการรักษาพยาบาลการเชื่อมต่อของสถานพยาบาลต่างๆ 3.มาตรฐานวัคซีน มีการปรับนโยบายวัคซีนโดยบุคลากรด้านหน้าจะมีการจัดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 (vaccine Booster dose) ให้บุคลากรด่านหน้าในโรงพยาบาลที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทุกวันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไวรัสโดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์ทั้งเดลตา (อินเดีย) หรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นมา ทั้งนี้ เพื่อธำรงกับสุขภาพให้สามารถเดินหน้าเพื่อดูแลประชาชนต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ให้เป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการ
ส่วนการฉีดวัคซีนประชาชนจะลดการฉีดปูพรมลง แล้วเน้นฉีดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง และเสียชีวิต ดังนั้นวัคซีนที่มีในมือตอนนี้ จะต้องเทให้กลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 80% เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตลงให้ได้ เพราะอัตรา การเสียชีวิตขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในคนกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อก็เอาวัคซีนไปฉีดต่อ เป็นการเร่งการควบคุมโรคได้เร็วขึ้น ไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก หลังจากนั้นค่อยฉีดให้ประชาชนทั่วไปให้เกิดการครอบคลุมมากขึ้น และ 4. คือมาตรการทางสังคม คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โดยให้ทำอย่างเข้มงวด
สำหรับการรักษานั้น กระทรวงได้ จัดบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดที่มีการติดเชื้อไม่รุนแรงทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ จำนวนมากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการ 3,700 เตียง ดูแลผู้ป่วยอาการเล็กน้อยการปานกลางและอาการมากแต่หากอาการหนักมากก็จะต้องส่งเข้าโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลใหญ่โดยตรงต่อตามความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเปิด ICU 24 เตียง ราบ 11 จำนวน 58 เตียงรวม ถึงสถานพยาบาลอื่นๆ
นพ.โอภาส การย์กวินพษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มากตรการควบคุมโรค มี 2 ส่วน คือ 1. ต่างจังหวัด และ 2. กทม. และปริมณฑล โดยในส่วนของต่างจังหวัดยังใช้มาตรการเฝ้าระวังโดยเฉพาะจังหวัดที่มีการติดเชื้อยังไม่มากนักโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยไม่สบายเป็นหวัดไปที่โรงพยาบาล รวมถึงปอดอักเสบจากนั้นก็ใช้มาตรการป้องกัน การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย การคัดกรองต่างๆ สำหรับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อนำเข้าสู่การกักกันโรคตามความเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ และการรักษา นั้นให้เป็นไปตามมาตรการเดิม แต่ให้ทำอย่างเข้มข้นและเข้มงวด
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างที่ทราบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นจุดศูนย์กลางของการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทยดังนั้นมาตรการในเดือน ก.ค.-ส.ค. จะต้องจัดให้สอดคล้องมากขึ้น โดยการค้นหา แยกกัก ควบคุม จะเน้นเพื่อการปกป้องผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยเสนอให้จัดทำ fast track ทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเปราะบาง เจ็บป่วยที่มีการสงสัยให้รับการตรวจเป็นลำดับแรกๆ และให้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต ส่วนกลุ่มอื่นที่ยังไม่มีอาการ เป็นวัยหนุ่มสาว ที่อัตราการป่วยหนักน้อย ให้ใช้วิธีการตรวจอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น ใช้รถพระราชทานคลินิกชุมชน หรือการตรวจด้วยช่องทางอื่นๆ ที่สะดวก
3. ปรับการสอบสวนควบคุมโรค เน้นเรื่องการคววบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ และหาจุดเสี่ยงระบาดให้ทันเวลา ส่วนการสอบสวนเฉพาะราย หรือไทม์ไลน์ ให้แต่ละจุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการแทน ขณะที่การควบคุมเชิงรุก เน้นจุดเสี่ยงเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ กระจายได้กว้างขวาง รวมทั้งการทำมาตรการควบคุมพื้นที่ บับเบิล แอนด์ซีล เน้น แหล่ง แรงงานต่างด้าว แคมป์ก่อสร้าง โรงงาน สถานประกอบการ ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัด เรือนจำ สถานพินิจ และแหล่งรวมตัวใหญ่ รวมทั้งสถานดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ จะมีการเสนอ และดำเนินการร่วมกับ กทม.
เรื่องที่ 3 ที่จะทำในเดือน ส.ค. คือ มาตรการวัคซีนในเดือน ก.ค. ตั้งเป้าหมาย อย่างน้อย 10 ล้าน โดยกระจายลงไปราย สัปดาห์ สัปดาห์ละประมาณ 2-2.5 ล้านโด๊ส มีเป้าหมายลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต และเพื่อการควบคุมการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่เป้าหมายอื่น เช่น การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่ดำเนินการได้อย่างราบรื่น ลำดับต่อไปจะเปิดที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เป็นต้น
สำหรับการระดมฉีดวัคซีน กทม. มีผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเปราะบางประมาณ 1.8 ล้านคน ระดมฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ภายใน 2 สัปดาห์ ได้หารือเบื้องต้นกับ กทม. แล้ว ส่วนปริมณฑล จะฉีดให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค. และจังหวัดอื่นๆ จะฉีด 2 กลุ่มนี้ให้ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการฉีดเพื่อควบคุมการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสระบาดในวงกว้าง เช่น โรงงาน ตลาด จะมีการฉีดรอบชุมชน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง กลุ่มที่โอกาสแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้มาก หรือซูเปอร์สเปรดเดอร์ ทั้งนี้ จะติดตามร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่อไป
อีกประการสำคัญคือการยยกระดับมาตรการทางสังคม มาตรการทางองค์กร โดยเฉพาะประชาชนใน กทม.และปริมณฑล ต้องบังคับมาตรการทำงานที่บ้าน (work from home) ในสถานที่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันและควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้อย่างน้อย 70% ที่สำคัญคือให้ประชาชน เพิ่มความเข้มข้นมาตรการบุคคล และประยุกต์หลักการ บับเบิล แอนด์ ซีล ตัวเอง/ครอบครัว เพราะทราบว่าการติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล ส่วนใหญ่ติดที่บ้านและที่ทำงาน ขอให้ใส่หน้ากากให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน กิจกรรมที่ไม่จำเป็นขอให้งดเว้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกันต้องงดเว้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลดการเดินทางออกนอกบ้าน.