สาเหตุของภาวะท้องผูก 1.พฤติกรรมการกิน มีนิสัยกินน้ำน้อย กินวัตถุแปลกปลอม เช่น เลียกินขนตัวเอง ทำให้เกิด “ก้อนขน (hairball)” ในทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดท้องผูก มักพบมากในแมวพันธุ์ขนยาว หรือแมวที่มีการเลียแต่งตัวมากกว่าปกติ (Over grooming) คือ พฤติกรรมที่แมวเลียขนเพื่อแต่งตัวและขจัดสิ่งสกปรก แต่ถ้าหากแมวแสดงพฤติกรรมนี้มากกว่าระดับปกติจะเกิดเป็นภาวะเลียแต่งตัวมากกว่าปกติ (Over grooming) มักเกิดจากปัญหาพฤติกรรม ปัญหาทางจิต เช่น เครียด เหงา เป็นต้น

2.สิ่งแวดล้อม มักเกี่ยวข้องกับห้องน้ำน้องแมว หรือ “กระบะทราย” นั่นเอง ยกตัวอย่าง เช่น กระบะทรายไม่เพียงพอ ไม่สะอาด พื้นที่วางกระบะทรายไม่เหมาะสม ทำให้น้องแมวไม่มีความเป็นส่วนตัวระหว่างเข้าห้องน้ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้น้องแมวอั้นอุจจาระ และเกิดภาวะท้องผูกตามมา

3.โรคหรือกลุ่มอาการผิดปกติอื่น ๆ 3.1 ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความ    เจ็บปวดบริเวณก้น เช่น เป็นแผล, ฝี, ต่อมข้างก้นอักเสบ และเนื้องอก เป็นต้น 3.2 ความผิดปกติที่ทำให้ทางออกของอุจจาระตีบแคบ เช่น เชิงกรานหัก, มีสิ่งแปลกปลอมอุดตัน, เนื้องอก เป็นต้น 3.3 เป็นอัมพาตช่วงท้ายลำตัว 3.4 ภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic megacolon) 3.5 ภาวะแห้งน้ำ (Dehydration) น้องแมวอาจมีพฤติกรรมกินน้ำน้อย ทำให้เกิดภาวะแห้งน้ำได้ง่าย 3.6 มีค่าอิเล็กโทรไลต์ผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมในกระแสเลือดต่ำ ทำให้การเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารลดลง 3.7 โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ภาวะโรคไต ที่ทำให้เกิดการขาดน้ำได้ง่าย เป็นต้น 3.8 ปัญหาระบบประสาทกล้ามเนื้อผิดปกติ (neuromuscular dysfunction) แมวที่เป็นอัมพาตช่วงท้ายลำตัว

 การวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุ หลัก 1.การซักประวัติ คุณหมอจะถามเจ้าของถึงเรื่องทั่วไปเกี่ยว กับน้องแมว เช่น น้องแมวมีอาการอะไรที่ผิดปกติขณะปัจจุบัน และประวัติเดิมเคยได้รับอุบัติเหตุหรือไม่ พฤติกรรมการกิน ได้แก่ ลักษณะอาหารเปียกหรือแห้ง กินน้ำบ่อยไหม กินยาตัวไหนประจำอยู่ มีแมวที่บ้านกี่ตัว     มีจำนวนกระบะทรายเท่าไหร่ เจ้าของเปลี่ยนทรายกี่วันครั้ง หรือทำความสะอาดกระบะทรายอย่างไร 2.การตรวจร่างกาย ประเมินสภาวะแห้งน้ำ คลำตรวจช่องท้องและกระดูกกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆของร่างกายตั้งแต่ช่วงกระดูกสันหลังช่วงเอวเป็นต้นมา ทดสอบการทำงานระบบประสาทเบื้องต้น ล้วงตรวจภายในช่องทวารหนัก เพื่อดูต่อมข้างก้น ขนาดเชิงกราน เป็นต้น

3.การตรวจทางห้องปฏิบัติการรังสีวินิจฉัย (X-ray) เพื่อดูปริมาณอุจจาระที่คาอยู่ในลำไส้ของสัตว์ เป็นการประเมินความรุนแรง และระยะเวลาการรักษาในเบื้องต้นได้ รวมถึงหาสาเหตุความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง และเชิงกราน ตรวจเลือด เพื่อดูสภาพสัตว์ และตรวจหาโรคอื่นที่โน้มนำสู่ภาวะท้องผูก หลักในการรักษาโรคท้องผูก สวน/ล้วงระบายอุจจาระเก่าที่     ค้างอยู่ในลำไส้ออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปริมาณอุจจาระในลำไส้ และทำให้ลำไส้มีการบีบตัวได้มากขึ้น ลดภาวะขาดน้ำโดยปรับอาหารให้มีส่วนประกอบของน้ำมากขึ้น หากเป็นมากสัตวแพทย์จำเป็นต้องให้น้ำเกลือใต้หนัง หรือเข้ากระแสเลือดโดยตรง ให้ยาคุมการติดเชื้อ ยากระตุ้นการเคลื่อนตัวลำไส้ ยาระบาย ในกรณีบางเคสที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา และการจัดการ อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำอุจจาระออก ร่วมกับการพิจารณาตัดลำไส้ใหญ่ออกบางส่วนหรือเกือบทั้งหมดแต่ยังเหลือหูรูดไว้ (subtotal colectomy)

สุดท้ายแล้วการรักษาภาวะท้องผูกในแมวจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสัตวแพทย์และเจ้าของ โดยเฉพาะการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของในระยะยาว เพราะเมื่อน้องแมวมีอาการดีขึ้นจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของเองเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ.

สพญ.กิตติยา ซิ้มไพศาล สัตวแพทย์ประจำแผนกเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ