เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีมีการเปิดเผยคลิปภาพและเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในสังคมไทยอยู่ในขณะนี้นั้น
โดย อ.พรสันต์ ระบุว่า “ก็ยังท่องเป็นอาขยานกันอยู่ทุกวันว่า การดูว่า ITV เป็นสื่อไหม “ไปดูๆ ว่าบริษัทมีการจดวัตถุประสงค์เป็นสื่อไหมล่ะ ก็ถ้าจดไว้ก็เป็นๆๆๆๆๆ” คือ ช่วยไปอ่านกันบ้างก็ดีนะครับ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดปี 2565 ก็อธิบายวางแนวไว้ชัดเจนว่า จะไปดูเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่ามีการประกอบกิจการจริงไหม ซึ่งก็มีเกณฑ์ดูอีก เห้อ……”
มีทุกศาลแล้ว!! มาดูแนวของศาลปกครองสูงสุด (#ที่ประชุมใหญ่) วางหลักว่า “การที่จะพิจารณาว่า บุคคลนั้นต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียงนั้น จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่า ได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น”
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 963/2565 (ประชุมใหญ่) คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีประกาศการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ ต่อมา พบว่า ผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัคร เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการด้านกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์
แต่ผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ท. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 9 ข้อ โดยข้อ ( ระบุว่า “ประกอบกิจการโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต…” ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ผ่านการคัดเลือก และนำคดีมาฟ้องต่อศาล
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า กรณีลักษณะต้องห้ามข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏว่า บริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น
เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานเห็นว่า บริษัท ท. ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ แต่ยังคงรักษาบริษัทไว้ เนื่องจากปัญหาเจ้าหนี้และลูกหนี้ และในช่วง พ.ศ. 2547 บริษัทได้เริ่มหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน แต่ยังไม่สามารถปิดบริษัทได้ เนื่องจากต้องสะสางบัญชี โดยส่งเอกสารงบการเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2552 ว่าบริษัทมิได้ทำธุรกิจใด ๆ เพิ่มเติม ข้อเท็จจริงจึงยังไม่แน่ชัดว่าบริษัทดังกล่าวได้มีการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ ของบริษัทหรือไม่
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมีมติว่า บริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองบริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Ponson Liengboonlertchai