เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์ และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือครองหุ้นของบริษัท ไอทีวี ว่า กรณีหุ้นไอทีวีจบในชั้น กกต. เรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ในมาตรา 98 (3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. ว่าห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ดังนั้น มาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2566 จึงบัญญัติว่า ..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นายอลงกรณ์ ระบุอีกว่า สำหรับกรณีของนายพิธา ตนเห็นว่าประเด็นหุ้นไอทีวีไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือหุ้นไอทีวีเป็นของนายพิธา หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้ง การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวีของนายพิธา คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรพ 6 ว่าด้วยมรดก และจากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติ ได้ความว่านายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดก ไม่ใช่ถือในนามส่วนตัว และในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้ว ซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี 2550 เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151 ดังนั้น ประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวีจะปิดสำนวนในชั้น กกต.ภายใน 30 หรือ 45 วัน

“การพิจารณาประเด็นหุ้นไอทีวี ต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใส เป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรม เมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตาม แม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรม จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้าครับ” นายอลงกรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุให้ทุกฝ่ายอย่าชี้นำการตรวจสอบ ‘พิธา’ ปมถือหุ้นสื่อ ขอให้รอการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น.