นางรุ่งรัตน์ สหัสดี ผอ.โรงเรียนบ้านหนองสาดโนนเจริญ ต.หนองครก อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านหนองสาดโนน สังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 มีพื้นที่ทั้งหมด 54 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า 30 ไร่ กับ 1 งาน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้น ป.6 มีข้าราชการครู 3 คน รวม ผอ. และครูอัตราจ้างอีก 2 คน โดยครูอัตราจ้าง ใช้เงินงบประมาณที่ระดมมาจากชุมชน ศิษย์เก่า และผู้ใหญ่ใจดี ร่วมกันบริจาคเพื่อจัดการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 47 คน การสอนแบบรวมชั้น คือ ชั้น ป.1 กับ ป.2, ป.3 กับ ป.4, ป.5 กับ ป.6 เรียนห้องเดียวกัน แบ่งชั้นเรียน 1 ห้อง เป็น 2 ชั้นเรียน แบบหันหลังให้กัน ครูประจำชั้น 1 คน รับผิดชอบ 2 ชั้นเรียน โดยสาเหตุที่ต้องเรียนห้องเดียวกันเนื่องจากห้องเรียนไม่พอ เพราะมีอาคารเรียนเพียง 1 หลัง ประกอบกับเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคณะครู ที่มีจำนวนจำกัด ได้ดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงในห้องเดียว
ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านหนองสาดโนนเจริญ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับทาง มรภ.ศรีสะเกษ นำโดย รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทน อธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ ดร.ชูวิทย์ นาเพีย รองอธิการบดี มรภ.ศรีสะเกษ ผศ.ดร.ประดิษฐ์ วงศ์สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มรภ.ศรีสะเกษ และคณะออกบริการวิชาการให้กับชุมชน เกี่ยวกับเรื่องของการฝึกอาชีพให้กับชุมชน ทางโรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โดยการปรับปรุงห้องสมุด ปรับปรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้ง 10 เครื่อง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ใช้สื่อและอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีการจัดโครงการส่งเสริมรักการอ่าน การจัดกิจกรรมค่ายอาสาของนักศึกษา มรภ.ศรีสะเกษ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สนามเด็กเล่น ถนน BBL รวมถึงการจัดค่ายทางวิชาการ มาติว O-NET/NT ให้กับนักเรียน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพบว่า ไม่ว่าจะเป็น O-NET/NT ก็มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคะแนน NT ของเรา ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมด 258 แห่ง โรงเรียนบ้านหนองสาดโนนเจริญ ได้อันดับที่ 17 จากเดิมอยู่อันดับรั้งท้ายมายาวนาน ถือว่าอยู่ในอันดับที่น่าพอใจ เนื่องจากเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ได้มีโครงการศึกษาป่าชุมชนและพัฒนาให้ป่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ลูกหลานได้เรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ต่างๆ โดยจัดทำโครงการ “ป่าเคียงเมือง” ขึ้นมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา พระสงฆ์-สามเณรและชาวบ้านในพื้นที่ ช่วยกันจัดทำแนวกันไฟ ป้องกันไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อสะดวกต่อการเข้าไปเยี่ยมชมธรรมชาติ เป็นเส้นทางศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับป่าในการเรียนการสอนด้วย โดยมีการจัดโซนป่า เพื่อบอกชนิดของพันธุ์ไม้ที่อยู่ในโซนนั้นๆ และประโยชน์ของพันธุ์ไม้ เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับนักเรียนรวมทั้งคนที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาอีกด้วย
นางรุ่งรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ทางโรงเรียนยังมีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นแปลงผักสวนครัว การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และแปลงเกษตรผสมผสาน ซึ่งโรงเรียนของเราโชคดีที่อยู่ในกลุ่มโรงเรียนความมั่นคงทางอาหาร ได้รับการสนับสนุนไก่พันธุ์ไข่ 50 ตัว จากทาง มรภ.ศรีสะเกษ ซึ่งออกไข่ทุกๆวัน โดยได้นำไปประกอบอาหารให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งจะทำเมนูอาหารเกี่ยวกับไข่ สัปดาห์ละ 1 เมนู ส่วนไข่ที่ก็นำไปจำหน่าย ให้กับผู้ปกครองนักเรียน คณะครู เพื่อเป็นรายได้มาซื้ออาหารเลี้ยงไก่ เพราะเราไม่มีงบประมาณในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนมีความมุ่งหวังที่จะให้ลูกๆนักเรียนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความสำคัญมุ่งหวังของเราคืออยากให้เขามาเรียนแล้วมีความสุข และเก่งทางด้านวิชาการอีกด้วย