สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง (ทล.) จัดประชุมสรุปผลการศึกษา โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจรเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง จ.อุดรธานี กับ จ.บึงกาฬ ระยะทาง 155.288 กม. เพื่อร่นระยะเวลาเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงสู่ จ.บึงกาฬ รองรับการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปิดประตูการค้าชายแดนแห่งใหม่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่กำลังก่อสร้างและมีแผนเปิดบริการในปี 2567

จ.บึงกาฬ แยกออกมาจาก จ.หนองคาย ปัจจุบันเส้นทางหลักที่เชื่อมระหว่าง จ.อุดรธานี กับ บึงกาฬ มี 2 เส้นทาง ระยะทางไกล ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชม. ได้แก่

1. มุ่งหน้า จ.หนองคาย โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ทล.2 หรือถนนมิตรภาพ) ผ่านตัวเมืองหนองคาย และใช้ ทล.212 (สายหนองคาย–อุบลราชธานี หรือถนนชยางกูร) เลียบแม่น้ำโขงไป จ.บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 221 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชม. 25 นาที

2.มุ่งหน้า จ.สกลนคร โดยใช้ถนนมิตรภาพ ผ่านตัวเมืองอุดรธานี แล้วใช้ ทล. 216 (ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี) สู่ จ.สกลนคร ผ่านทล.22 (สายอุดรธานี–นครพนมหรือถนนนิตโย) และ ทล. 222(สายพังโคน–บึงกาฬ) มุ่งหน้า จ.บึงกาฬ ระยะทางประมาณ 230 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชม. 30 นาที นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายถนนสายรองมากกว่า 200 กม. แต่ไม่สะดวกในการคมนาคมขนส่ง

กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาโครงการฯ 96 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565-24 พ.ค. 2566 ระยะเวลา 450 วัน ผลการประชุมที่ จ.อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ เมื่อวันที่ 16, 18 และ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 3 จังหวัดเห็นด้วยกับโครงการ เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น

โครงการทางหลวงแนวใหม่อุดรธานีบึงกาฬ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด อุดรธานี หนองคาย และ บึงกาฬ 10 อำเภอ 29 ตำบล 100 หมู่บ้าน ใช้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท พื้นที่เวนคืนประมาณ 7,000 ไร่ วงเงินค่าเวนคืน 3,500 ล้านบาท หากภาครัฐสนับสนุบงบประมาณก่อสร้างจะเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และกระบวนการเวนคืนที่ดิน ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2569 เปิดบริการปี 2571-2572

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ กม.424+465 ถนนมิตรภาพ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี สิ้นสุดบริเวณ ทล.244 ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เป็นทางหลวงตัดใหม่ 4 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก กว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร มีเกาะกลางแบบกดเป็นร่องแบ่งทิศทางการ พร้อมออกแบบทางแยกต่างระดับ 3 จุดเพื่อลดจุดตัดดังนี้

1.บริเวณจุดตัด ทล.2 (จุดเริ่มต้นโครงการ) กม.424+465 ถนนมิตรภาพ ออกแบบทางแยกต่างระดับรูปตัว T หรือทรัมเปต (Trumpet Type) มีสะพานยกระดับแบบกึ่งตรง (Semi-Directional Ramp) ในทิศทางเลี้ยวขวาจาก จ.ขอนแก่น เข้าถนนโครงการ และมีทางเลี้ยววน (Loop Ramp) จากถนนโครงการเข้าสู่ จ.อุดรธานี

2.บริเวณจุดตัด ทล.22 (ถนนนิตโย หรือสายอุดรธานี–นครพนม) บริเวณ กม.24+673 ของแนวเส้นทางโครงการกับ ทล.22 กม.30+095 เป็นทางแยกต่างระดับแบบพาร์เชียล โคลเวอร์ลีฟ (Partial Cloverleaf Interchange) สะพานยกระดับบนถนนโครงการ ข้าม ทล.22 และมีทางเลี้ยวขวาแบบกึ่งตรง (Semi-Directional Ramp) ในทิศทางเลี้ยวขวาจากถนนโครงการเข้า ทล.22 ไป จ.สกลนคร

ในทำนองเดียวกันฝั่งทิศทางจาก จ.บึงกาฬ มีทางเลี้ยวขวาแบบกึ่งตรงในทิศทางเลี้ยวขวาจากถนนโครงการเข้า ทล.22 ไป จ.อุดรธานี นอกจากนี้ออกแบบให้มีทางเลี้ยววนในทิศทางจาก ทล.22 เข้าถนนถนนโครงการไปยัง จ.ขอนแก่น และทางเลี้ยววนในทิศทางจาก ทล.22 เข้าถนนโครงการไป จ.บึงกาฬ

3.บริเวณจุดตัดทางหลวงเลี่ยงเมืองบึงกาฬ (จุดสิ้นสุดโครงการ) บริเวณ กม.155+542 ของแนวเส้นทางโครงการบรรจบ กม.2+772 ของแนวก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ เป็นทางแยกต่างระดับ รูปตัว T หรือทรัมเปต มีสะพานยกระดับแบบเลี้ยวกึ่งตรง ในทิศทางเลี้ยวขวาจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เข้าสู่ถนนโครงการ และมีทางเลี้ยววนจากถนนโครงการทิศทางเข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองบึงกาฬ เพื่อไป จ.บึงกาฬ

ทั้งนี้ ทางแยกต่างระดับทั้ง 3 แห่ง จะมีงานสถาปัตยกรรมออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เน้นปลูกต้นไม้ท้องถิ่นเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีสะพานข้ามทางแยกบริเวณจุดตัดทางหลวงท้องถิ่น 7 แห่ง มีสะพานข้ามทางรถไฟ 1 แห่ง เนื่องจากแนวเส้นทางตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่ กม.1+207 และตัดโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ที่ กม.1+527 รวมทั้งมีจุดกลับรถใต้สะพานตลอดแนวเส้นทาง 31 แห่ง อาคารระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง และจุดพักรถ 1 แห่ง ที่ กม.103+550 ต.เฝ้าไร่ อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย

ใจความสำคัญที่สุดของทางหลวงแนวใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 155 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. 20 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับทางหลวงแนวเดิมอุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 230 กม. ใช้เวลา 3 ชม. ครึ่ง ร่นเส้นทางลงได้ 75 กม. ลดเวลาการเดินทางลงกว่า 2 ชม.

แจ้งเกิดและศึกษาออกแบบไว้ด้วยประการทั้งปวง …แต่จะได้ก่อสร้างหรือไม่?? ต้องติดตามไปพร้อมๆ กับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาชี้ขาด

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…