ตอนนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงฮันนีมูนของว่าที่รัฐบาลใหม่ ใครๆ ก็ว่า หอมกลิ่นความเจริญกำลังจะมาแล้ว ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่เชื่อว่า การที่ประชาชนให้โอกาสพรรคก้าวไกลมาก จนกระทั่งคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต (คะแนนบัญชีรายชื่อ) นำสูงสุดแบบว่า เอามาทำแผนภาพเรียกได้เลยว่า “ส้มทั้งแผ่นดิน” 

ประชาชนก็รีบอยากให้ กกต. รับรอง ส.ส. ให้ครบพอเปิดสภาเสียที จะได้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วจากนั้นก็นัดประชุมร่วมสองสภา เลือกนายกฯ พอนายกฯ ตั้ง ครม. เสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้เป็น ครม. เมื่อมีการทูลเกล้าฯ ถวายสัตย์แล้ว ก็เท่ากับเราได้รัฐบาลใหม่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แจ้งต่อที่ประชุม ครม. วันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ถ้านับไทม์ไลน์คือ เลือกประธานสภา ราวเดือน ก.ค. และจากนั้นเลือกนายกฯ ราวต้น ส.ค.

ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาอะไรสะดุดขึ้นมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะได้ขึ้นเป็นนายกฯ คนหนุ่มแบบที่คนไทยหลายคนที่เบื่อนายกฯ แบบลุงๆ แต่ระหว่างนี้ ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มันก็มีตัวแปรสกัดดาวรุ่งเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่อง หุ้นไอทีวี ของนายพิธา เรื่องหุ้นนี่ น่าเชื่อด้วยซ้ำว่า มีโอกาสที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ฝืนกระแสสังคมปลุกม็อบกลางเมือง คืออาจให้นายพิธาเป็นนายกฯ สักพักก่อน แล้ว “ถ้ามีความผิดจริงตามรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในข่ายคุณสมบัติต้องห้ามดำรงตำแหน่งตามมาตรา 98 วงเล็บสาม” ก็ค่อยสอย

ถ้าเกิดกรณีสอยนายพิธากลางอากาศจริง ก็จะกลายเป็นว่า ครม. ต้องพ้นทั้งคณะตามนายกฯ และต้องเลือกนายกฯ กันใหม่ ทีนี้ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นยังมีอำนาจเลือกหรือไม่ (พวกนี้จะหมดวาระราวๆ กลางๆ ปี 67) หรือปรากฏว่า มียื่นศาลรัฐธรรมนูญกันอีก ว่าระหว่าง ส.ว. ชุดใหม่ ยังไม่ได้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่ง จะให้ ส.ว. บทเฉพาะกาลยังมีอำนาจนี้ … แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสอยนายพิธาด้วยเรื่องหุ้นจริง พรรคก้าวไกลก็เสียเปรียบตรงที่ดันเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ทำให้มีแนวโน้มว่า ส้มอาจหล่นไปที่นายเศรษฐา ทวีสิน หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตามที่เพื่อไทย เป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับสอง และถูกรวบหัวรวบหางเป็นพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่สี่ทุ่มวันเลือกตั้ง

ซึ่งเอาจริง ถึงวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า ฝั่งเพื่อไทยเขาแฮปปี้ดีหรือไม่ ที่พรรคก้าวไกลพอได้คะแนนมากกว่า ชิงแถลงจะเอาเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาลเลย เพราะคนพรรคมีท่าทางพิพักพิพ่วนอยู่ อย่าง น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ก็ตอบคำถามเรื่องการหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนให้ถึง 376 เสียงว่า “ให้เป็นหน้าที่ของพรรคอันดับหนึ่ง” ก็เห็นมีข่าวว่า คนของพรรคก้าวไกลกำลังเดินหน้าทำความเข้าใจกับ ส.ว. แต่ในมุมหนึ่ง ก็มีข่าว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จากพรรคเพื่อไทย เดินสายขอคะแนนจาก ส.ว. เช่นกัน ซึ่งก็ไม่รู้นะว่า..ขอให้สนับสนุนใคร

เรื่องอนาคตก็ว่ากันที่อนาคต ว่า อยู่ๆ เสียงในสภาจะพลิกหรือไม่ หรือนายพิธาจะโดนสอยหรือไม่… แต่ดูเหมือนพรรคแนวร่วมเดียวกันก็เริ่มๆ ขุ่นๆ บ้าง เรื่อง “เอ็มโอยูบีบให้ยอมรับเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลมากเกินไป” ขนาดคนพูดคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่สมัยเป็นฝ่ายค้าน เป็นขวัญใจสายเกลียดรัฐบาลประยุทธ์ ก็ยังโดนกองเชียร์ฝั่งส้มด่าเอาว่า ได้แค่เสียงเดียวจะเอาอะไรมาก

และคนที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องการขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกลบ่อยๆ คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุลลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งช่วงก่อนเลือกตั้ง ไม่รู้ไปมีความเห็นกันอีท่าไหน นายพิธาโพสต์ด่านายปิยบุตรเป็นหน้าๆ ทางนายปิยบุตรพอรู้ว่าถูกโพสต์ด่าก็โพสต์ด่านายพิธากลับเป็นหน้าๆ เหมือนกัน แต่ในที่สุดก็นัดเคลียร์กันได้ ซึ่งฝ่ายกองเชียร์เขาก็บอกว่า “ความเห็นต่างคือความงดงามทางประชาธิปไตย” แต่ลองไม่ใช่ฝั่งนี้ตีกันออกสื่อดู สงสัยมีแต่คนสมน้ำหน้า ด่าลงเน็ตไปเรื่อยด้วยความสะใจ “มันแตกกันแล้ว” หรือถ้าความเห็นทางการเมืองต่าง ก็จะยกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายถูก ใครเถียงกูคนนั้นสลิ่ม…

นายปิยบุตรได้โพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคก้าวไกลบ่อยๆ เช่น แสดงความเห็นเรื่องเอ็มโอยู ไม่มีเรื่อง ม.112 และนิรโทษกรรม ทางนายพิธาก็ว่าเข้าใจความกังวลของนายปิยบุตร แต่เนื้อหาในเอ็มโอยูกับรัฐธรรมนูญ มันก็ไปในทิศทางเดียวกัน คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อนึ่ง เรื่องเอ็มโอยูไม่มีการนิรโทษกรรม เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยออกอาการคัดค้านว่า ถ้าปล่อยให้มี จะกลายเป็นถูกโยงว่า พรรคเข้ามาช่วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้านมาหาหลานเดือน ก.ค. แบบไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเกรงจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีก

ในส่วนโควตารัฐมนตรีนั้น ก็ยังแบ่งไม่ลงตัว แต่น่าจับตา กระทรวงพลังงาน ว่าตกลงแล้วก้าวไกลจะยอมยกให้เพื่อไทยหรือไม่ ตามที่เขาขอกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงพลังงานนั้น จะกำหนดนโยบายในการรับซื้อพลังงานจากเอกชน ซึ่งขณะนี้มีเศรษฐีจากการขายพลังงานมากมาย ถ้าเข้ามาปรับโครงสร้างการรับซื้อ แล้วนายทุนเหล่านั้นเสียผลประโยชน์ จะยอมกันง่ายๆ หรือไม่ ซึ่งเรื่องค่าไฟนั้น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ว่ากันว่าจะมาเป็น รมว.คลัง บอกว่า จะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนตั้งแต่บิลในเดือน ม.ค. 67 เป็นต้นไป

กระทรวงการคลังก็เป็นกระทรวงที่เพื่อไทยน่าจะเสียดายอยู่ เพราะดูนโยบายเรื่องการกำหนดภาษี ขณะที่พรรคก้าวไกล “มีโอกาส” ที่จะออกแบบระบบภาษีเพิ่มเติม เช่น ภาษีลาภลอย หรือ ภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐ อย่างมีอพาร์ตเมนต์ แล้วรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เจ้าของก็ต้องเสียภาษีลาภลอย, ภาษีความมั่งคั่ง ซึ่งคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสีย การเปลี่ยนอัตราการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีหุ้น ภาษีมรดกใหม่ ซึ่งเป็น ภาษีคนรวยทั้งสิ้น ..แล้วถ้าไปกระเทือนพวกนายทุนเข้า ก็คงมีปัญหา เพราะการเมืองกับกลุ่มทุน มันก็เป็นอะไรที่เกื้อหนุนกัน

ล่าสุดก็เห็น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาฟาดเหวี่ยงๆ ทำนองว่า เพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะยังอยู่หรือไม่ ก็ไปลุ้นเอาข้างหน้าแล้วกัน

ย้อนกลับไปข้างต้น ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า เงื่อนไขเอ็มโอยูบีบให้ยอมรับนโยบายพรรคก้าวไกลมากเกินไป คิดว่าพรรคอื่นเขาก็คงคิด แต่เขายังไม่พูดออกมาชัดๆ ก้าวไกลเขาก็บอกเขาถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว ..ก็มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล นี่แหละ ที่ออกหน้าว่า “ก้าวไกลก็ถอยจนไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว”

นายปิยบุตร ได้โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด” ตอนหนึ่งว่า สองสามวันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกล ปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ตนเห็นว่าพรรคก้าวไกล ปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆ ไม่ได้ การเจรจาทำเอ็มโอยู พรรคก้าวไกลถอยในหลายประเด็นแล้ว และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม เฉือน อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรดเอ โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการเป็นเนื้อเป็นหนัง  

“การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส. พรรคอื่น โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส. ของพรรคอันดับที่หนึ่ง ใครๆ ต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทย ก็ต้องใช้กฎใช้กันในสภาวะปกติ ตำแหน่งประธานสภา ต้องมาจาก ส.ส. ของพรรคอันดับหนึ่ง นอกจากนี้นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียง จนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็น พ.ร.บ. จึงจำเป็นต้องมี ส.ส. ของพรรคตนเอง ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ” นายปิยบุตร ระบุ  

May be an image of 4 people and crowd

นายปิยบุตร โพสต์ว่า จำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และ การแก้ไข ม.112  ซึ่งทั้ง สองประเด็นนี้ไม่อยู่ในเอ็มโอยู และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้ กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้  พรรคก้าวไกล ต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภา เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกฯ ด้วย การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้

เหมือนเอ็มโอยู เก้าอี้รัฐมนตรี เก้าอี้ประธานสภา และนายปิยบุตร จะกลายเป็น “ของขม” สำหรับว่าที่รัฐบาลใหม่อยู่ตอนนี้ และ ดูๆ ไป นายปิยบุตรก็ดูจะเป็น “ของขม” สำหรับพรรคก้าวไกลอยู่พอสมควร การเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ เจรจากันไม่ลงตัว เอ็มโอยูฉีกทิ้งได้ ในช่วงสองเดือนนี้ก่อนเลือกนายกฯ ก็ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เจรจา ส.ว., สร้างความพึงพอใจกับทุกพรรคร่วมรัฐบาล แล้วก็ไม่รู้ว่า จะต้องเจอกับสถานการณ์ทำให้นายปิยบุตรพอใจอีกหรือไม่

ทะเลาะกันมากๆ เผลอๆ เพื่อไทยจะเป็นตาอยู่ ชิงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งย้อนกลับไปข้างต้นคือ เลือกนายกฯ เที่ยวนี้เขาคงไม่ชิงให้ภาพลักษณ์เสีย แต่ถ้านายพิธาโดนสอยนี่…ไม่แน่…

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”