สภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อนดุเดือด ความร้อนที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับการทำงาน ทำกิจกรรมกลางแจ้งต้องสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งต้องระมัดระวัง “ภาวะฮีทสโตรก” หรือภาวะลมแดด ซึ่งมีสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากความร้อนที่สูงและอบอยู่ในร่างกาย จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้

ในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว อีกความอันตรายที่มักมาพร้อมกันยังมี “พายุฝนฟ้าคะนอง” ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกลงมาสร้างความเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแจ้งเตือนมาโดยตลอด

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังมีเรื่อง คลื่นความร้อน (Heat Wave) ที่ถูกนำมาพูดถึง โดยต่างประเทศค่อนข้างมีความเด่นชัด มีรายงานข่าวให้ติดตามบ่อยครั้ง ทั้งนี้ นำความรู้ นำเรื่องน่ารู้ ชวนมองรอบด้านรู้จักกับคลื่นความร้อน ภัยอากาศร้อนที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ในประเด็นเหล่านี้ว่า สิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก เป็นปัญหาที่ใหญ่และจะรุนแรงขึ้น โดยในความรุนแรงนั้นหมายถึงอุณหภูมิจะสูงขึ้นและมีความถี่ เกิดขึ้นทั่วโลกบ่อยขึ้น

“คลื่นความร้อน สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกติ โดยถ้าอากาศปกติ จะมีการไหลเวียนของอากาศ แต่เมื่อเกิดปัญหาฮีทเวฟ อากาศจะไม่ไหลเวียน ไม่หมุนเวียนตามปกติ โดยหลักใหญ่จะเป็นเช่นนี้ แต่จะด้วยสาเหตุใดมีความหลากหลาย แล้วแต่พื้นที่ อย่างเช่นประเทศเขตหนาวจะมีลักษณะการเกิดในพื้นที่ที่ไม่เหมือนในเขตร้อน”

ประเทศไทยเราอยู่ใกล้เขตศูนย์สูตร ลักษณะของอากาศไม่เหมือนกับประเทศเขตหนาว การไหลเวียนของอากาศไม่เหมือนกัน แต่จากที่กล่าวที่เหมือนกันคือ เมื่อเกิดปัญหาฮีทเวฟ อากาศจะไม่ไหลเวียนตามปกติ ผศ.ดร.สุรัตน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า จริง ๆ แล้วตามธรรมชาติก็มีอากาศไหลเวียนช้าไหลเวียนต่ำ

สังเกตได้โดยถ้าเราไปเที่ยวทะเล จะสังเกตว่าในเวลากลางวัน จะมีลมพัดผ่านเข้ามาหาเรา เย็นสบาย แต่ถึงกลางคืน ลมจะพัดจากบกไปสู่ทะเล คนละทิศทางกัน แต่จะมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ช่วงหัวค่ำ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างลมที่พัดเข้า และพัดออกไป ช่วงเวลานี้ ลมจะนิ่งเป็นลักษณะการไหลเวียนตามธรรมชาติ

แต่ที่เป็นปัญหา ฮีทเวฟจะมีความรุนแรงและถี่ขึ้น โดยสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นทั้งจากภาวะโลกร้อนความร้อนมากขึ้น อากาศไม่เคลื่อนที่ โดยลมจะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของอากาศจากความแตกต่างของอุณหภูมิสองแห่ง พื้นที่หนึ่งเย็น พื้นที่หนึ่งร้อน อากาศร้อนยกตัวขึ้น อากาศเย็นไหลเข้ามา แต่หากเกิดความร้อนหมดทุกที่ ไม่มีอากาศเย็นไหลเวียนเข้ามาก็เกิดเป็นปัญหา

“พื้นที่สีเขียวลดน้อยลงก็เป็นส่วนเสริมให้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ฮีทเวฟ โดยส่วนใหญ่จะใช้ระดับของอุณหภูมิเป็นตัวบ่งบอก โดยที่ผ่านมาคณะสิ่งแวดล้อม เราศึกษาติดตามการเปลี่ยนของอุณหภูมิ พบว่าในช่วงสองปีมานี้อุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงเริ่มมีความถี่มากขึ้น แต่อย่างไรแล้วยังคงต้องศึกษาติดตามต่อเนื่อง อย่างเช่น อุณหภูมิสูงช่วงกลางวันและลดลง หรือเทรนด์พุ่งสูงขึ้นตลอดหรือไม่อย่างไร ฯลฯ แต่ทั้งนี้ อุณหภูมิสูง อากาศร้อนจัดดังที่ปรากฏตามข่าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิต ฯลฯ”

เมื่ออากาศร้อนจัดอบอ้าว เราต้องประเมินตนเอง มีปัญหาสุขภาพ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ต้องดูแลสุขภาพระมัดระวังตนเองเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับฝุ่น PM 2.5 ถ้ามีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ระดับของฝุ่นแม้จะไม่เยอะมากเท่ากับคนอื่นที่เป็นอันตราย ก็มีความรุนแรงได้

“ในช่วงหน้าร้อน อุณหภูมิพุ่งสูง อบอ้าว อาจเป็นต้นเหตุของโรคต่าง ๆ จากที่กล่าวการประเมินตนเอง และดูแลตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้งขณะแดดจัด อุณหภูมิสูง อากาศร้อนทำให้อุณหภูมิ
ของร่างกายสูงขึ้น อาจมีผลทำให้เป็นลมแดด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เป็นต้น“

คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.สุรัตน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ในเรื่องความร้อน ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่สุขภาพ หรือการดำเนินชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อไปในวงกว้าง ต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย เกิดไฟป่า ไฟไหม้ ฯลฯ ซึ่งต้องเฝ้าระวังกันในช่วงอากาศร้อนจัด อากาศแห้ง มีโอกาสความเสี่ยงจะเกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา

“การจัดการปัญหามีความสำคัญ อย่างกรณีเกิดไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หรือไฟบ้าน การเข้าดับเร็ว แก้ปัญหาเร็ว วงของความเสียหายจะลดน้อยลง เมื่ออากาศร้อนอีกสิ่งที่ตามมาคือ ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมในเรื่องของการเพาะปลูก การเตรียมการล่วงหน้า วางแผนรับมือจะช่วยกำจัดวงปัญหา จะเห็นว่าภัยร้อนส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม“

ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตนเองมักพูดเสมอคือ พื้นที่สีเขียว ซึ่งไม่เฉพาะป่า พื้นที่สีเขียวในเมืองก็มีส่วนสำคัญลด คลายอุณหภูมิความร้อน ทั้งนี้ในเมืองถ้ามีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่างกันก็จะเกิดการหมุนเวียนของลม ในเรื่องฮีทเวฟก็จะบรรเทาเบาบางลง แต่ถ้ามีแต่ความร้อนในทุกที่ อากาศไม่ไหลเวียนจะเกิดปัญหาตามมา

พื้นที่สีเขียวจึงเป็นทางออกได้ดี ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวในเมืองสามารถทำได้หลายรูปแบบ อย่างพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวน หรือถ้าบ้านเรือนที่พอมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ได้ ก็ปลูก ไม่จำกัดว่าต้องปลูกสิบต้น หรือมีจำนวนเท่าใด ปลูกตามความเหมาะสมกับพื้นที่ที่มี ทั้งนี้การที่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ประสิทธิภาพของพื้นที่สีเขียวก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

อีกทั้งไม่ใช่คนคนเดียวที่ต้องทำ แต่เป็นความร่วมมือร่วมกันของคนที่อยู่ในเมืองที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี คลื่นความร้อน ภัยอากาศร้อน สัญญาณเตือนเหล่านี้ใกล้ตัวเราเข้ามา ต้องร่วมช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง และไม่เฉพาะอากาศร้อน อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่ตามมาจากภาวะโลกรวน ไม่ว่าจะเป็นฝนตกหนัก น้ำท่วม ฯลฯ อะไรก็ตามที่เคยเป็น กลับไม่เป็น อะไรที่เคยเกิด กลับไม่เกิด แต่เปลี่ยนไปเกิดอีกแบบหนึ่ง ต้องตระหนักเพิ่มขึ้น

อากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน อย่างไรแล้วการดูแลรักษาสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับ KU Tower ที่เราใช้ตรวจวัดทั้งเรื่องอุตุนิยมวิทยาและอื่น ๆ ที่ผ่านมาได้ติดตามเรื่องความร้อนด้วยเช่นกัน ส่วนการติดตามสภาพอากาศ หรือข้อมูลเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 คณะสิ่งแวดล้อมเราเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ของคณะ โดยสามารถติดตาม เข้าถึงข้อมูลทั้งเรื่องอุณหภูมิ ค่าฝุ่นละอองในเบื้องต้นได้ เป็นอีกช่องทางเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง

ภัยอากาศร้อน คลื่นความร้อน การติดตามข่าวสารมีความสำคัญ จากที่กล่าวพื้นที่ที่อากาศไม่ไหลเวียน เกิดการสะสมของความร้อนทำให้มีความร้อนเพิ่มขึ้น อีกทั้งในช่วงฤดูร้อนจะสัมผัสกับอากาศร้อนได้มากขึ้น ถ้าเปรียบกับบ้าน ถ้าเปิดหน้าต่าง อากาศมีการถ่ายเทเข้า-ออก บ้านก็จะไม่ร้อน

แต่ถ้าปิดหน้าต่างหมด อากาศไม่มีการเคลื่อนที่ ขณะที่แสงยังคงส่องเข้ามา อากาศก็จะร้อนขึ้น และถ้าบ้านนั้นมีสิ่งต่าง ๆ ที่เพิ่มความร้อนจะยิ่งเสริมให้บ้านร้อนขึ้น เมืองที่เราอาศัยอยู่ก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธรรมชาติออกแบบให้อากาศมีการเคลื่อนที่ นำความร้อนออกไป

แต่เมื่อใดที่อากาศไม่เคลื่อนที่ ความร้อนถูกสะสม ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งร้อนขึ้น ส่วนความร้อนเช่นนี้จะอยู่ยาวนานแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย มีอากาศใหม่เข้ามาแทนที่อากาศเก่าช้าหรือเร็ว ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่าสภาพอากาศ บอกเล่าความร้อน ส่งต่อการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมร่วมกัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ