สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ว่าองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ( ดับเบิลยูเอ็มโอ ) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศของโลกประมาณ 11,000 เหตุการณ์ ในรอบ 50 ปี จนถึงปี 2562 รวมถึงวิกฤติภัยแล้งในเอธิโอเปีย เมื่อปี 2526 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 330,000 ราย และเฮอริเคน "แคทรีนา" ที่ถล่มสหรัฐ เมื่อปี 2548 
ข้อมูลจากตลอดช่วงเวลาดังกล่าวระบุว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีสาเหตุมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย เกือบ 5 เท่า จากระยะเวลาช่วงเริ่มต้นของฐานข้อมูล คือปี 2513 มาจนถึงช่วงทศวรรษปัจจุบัน ซึ่งความถี่ของการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติแปรสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อน
ขณะเดียวกัน การที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 175,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.67 ล้านล้านบาท ) ในช่วงเวลาเริ่มต้นของฐานข้อมูล เป็น 1.38 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ ( ราว 44.65 ล้านล้านบาท ) ในช่วงทศวรรษล่าสุดนับตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากสหรัฐเผชิญกับอิทธิพลของเฮอริเคนหลายลูก
ประชาชนที่เมืองลา พลาส ในรัฐลุยเซียนาของสหรัฐ อพยพออกจากพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหาย จากอิทธิพลของเฮอริเคน “ไอดา” ที่พัดถล่มในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ บทเรียนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง "ล้วนมีราคาแพง" โดยก่อให้เกิดวามสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 3.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 117.68 ล้านล้านบาท ) ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ทำให้มนุษย์เพิ่มการศึกษา มีการรับมือและการแก้ไขสถานการณ์ที่ดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลง จากเฉลี่ยปีละมากกว่า 50,000 ราย ในช่วงเริ่มต้นของการสำรวจ ลงมาอยู่ที่ประมาณ 18,000 รายต่อปี
อย่างไรก็ตาม รายงานของดับเบิลยูเอ็มโอทิ้งท้ายว่า ประเทศที่ยากจนและกำลังพัฒนายังคงต้องการความสนับสนุนด้านระบบเตือนภัยสภาพอากาศ เนื่องจากมีเพียงสมาชิกดับเบิลยูเอ็มโอเพียงครึ่งเดียว จากทั้งหมด 193 ประเทศ ที่มีระบบเตือนภัยได้ประสิทธิภาพ และ 91% จากจำนวน 2 ล้านรายของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติบนโลกตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านี้.

เครดิตภาพ : AP